แต่จะบอกว่าอะไรเป็นสาเหตุนั้นต้องดูจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น ถ้าเจ้าของกำลังลูบน้องแมวอยู่ แล้วแมวหันมากัดหรือขบ อาจเกิดจากแมวเริ่มไม่อยากให้ลูบแล้วจึงกัดเป็นการเตือนว่าให้หยุด หรืออีกกรณี แมวอาจจะชอบมากแล้วเกิดอาการตื่นเต้นจึงหันมางับก็ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ให้เจ้าของหยุดลูบ เพราะถ้าแมวไม่อยากให้ลูบแล้ว แล้วยังฝืนใจเค้าไปลูบอีก อาจจะทำให้แมวก้าวร้าวมากขึ้นในอนาคต และอาจจะไม่ยอมให้ลูบอีกเลย หรือถ้าเขาชอบจนตื่นเต้นแล้วหันมางับแล้วเรายังลูบต่อ เขาอาจจะเข้าใจว่าเราจะเล่นด้วย จะทำให้น้องแมวติดนิสัยชอบงับ ส่วนในกรณีที่เจ้าของอยู่เฉย ๆ แต่น้องแมวเข้ามางับหรือขบ อาจเป็นไปได้ถึงความเบื่อหน่ายและจะพยายามชวนเจ้าของเล่นด้วย หรือเรียกร้องความสนใจ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วน้องแมวจะประสบความสำเร็จในการเรียกร้องความสนใจจากการกัด เพราะว่าเมื่อถูกกัดแล้ว เจ้าของส่วนใหญ่ก็จะดุ หรือคุยกับน้องแมว ซึ่งในมุมมองของแมวแล้ว นั่นคือการเรียกร้องความสนใจที่ได้ผล เพราะเจ้าของถึงแม้ว่าจะดุ แต่ก็หันมามองหรือคุยกับเขา ทำให้น้องแมวเรียนรู้ที่จะทำพฤติกรรมนั้นอีกเมื่อต้องการเรียกร้องความสนใจจากเจ้าของ

สำหรับในลูกแมววัยรุ่น บางครั้งเจ้าของจะพบว่ามีการแอบซุ่มโจมตีกระโดดมากัดเจ้าของ อันนี้เป็นพฤติกรรมการเล่นสำหรับลูกแมววัยรุ่น หรืออาจจะเป็นการเลียนแบบพฤติกรรมการล่าเหยื่อซึ่งเป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติของแมว เจ้าของอาจพยายามช่วยลดพฤติกรรมนี้ได้ โดยการชวนน้องแมวเล่นกับของเล่นที่ทำให้เหมือนสถานการณ์ให้เค้าได้วิ่งไล่ล่า เพื่อให้เขาได้สามารถแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาตินี้ได้โดยที่ไม่ต้องมาทำพฤติกรรมนี้กับเจ้าของ

อย่างไรก็ตาม น้องแมวส่วนใหญ่จะสามารถที่จะกะระดับความแรงของการกัดได้ โดยเฉพาะการกัดหรือขบที่เกี่ยวกับการเล่น แต่ถ้าเป็นการที่น้องแมวกัดจากความกลัวหรือความไม่พอใจ หรือพฤติกรรมเลียนแบบการล่าเหยื่อ การกัดอาจแรงได้ การกะระดับความแรงของการกัดนี้ เป็นสิ่งที่น้องแมวต้องเรียนรู้มาตั้งแต่ยังเป็นลูกแมวตอนที่อยู่กับแม่และพี่น้องในครอก ถ้าลูกแมวถูกแยกมาจากแม่และพี่น้องในครอกเร็วเกินไปจะไม่ได้เรียนรู้การกะระดับความแรงของการกัด ดังนั้นในแมวเหล่านี้บางตัวถึงแม้จะเล่นแต่ก็กัดเจ้าของจนเกิดแผลได้ วิธีการป้องกันที่จะทำได้ก็คือ ควรให้ลูกแมวได้อยู่กับแม่แมวและพี่น้องจนอายุไม่ต่ำกว่าสิบสัปดาห์ แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องแยกมาก่อน เจ้าของอาจจะช่วยสอนได้ โดยการไม่เล่นกับน้องแมวถ้าน้องแมวเริ่มกัดแรง อย่างไรก็ตาม การสอนโดยคนก็จะไม่ดีเท่ากับการที่ลูกแมวเรียนรู้จากแมวด้วยกันเอง ส่วนการที่น้องแมวเล่นแล้วกางเล็บหรือไม่กางเล็บ ก็เป็นการเรียนรู้ตั้งแต่เด็ก เช่นเดียวกับการกัด ถ้าได้เรียนรู้จากแม่และน้อง ลูกแมวเมื่อโตขึ้น เวลาเล่นก็จะไม่กางเล็บ

สำหรับการแสดงออกถึงความรักของแมว ที่มีต่อเจ้าของ อาจจะแตกต่างกัน ตามนิสัยของแมวแต่ละตัว บางตัวอาจเข้ามานอนใกล้ ๆ และถ้ารู้สึกไว้ใจมาก ๆ ก็จะนอนหงายท้องให้ลูบ บางตัวพอเจ้าของอยู่ใกล้หรือลูบ อาจจะส่งเสียงเหมือนฮัมอยู่ในลำคอที่เรียกว่า purring บางตัวอาจแสดงความรัก โดยการมารอต้อนรับ เวลาเจ้าของกลับบ้าน หลาย ๆ ตัว อาจจะแสดงความรัก เหมือนที่แสดงกับแมวด้วยกัน คือการเลียขน แมวที่สนิทกันและรักกันมักจะเลียตัวให้กัน ซึ่งแมวบางตัวก็จะแสดงพฤติกรรมเช่นเดียวกันนี้กับคนที่เขารักเช่นกัน นอกจากนี้ยังพบว่าแมวบางตัวจะมองตาเจ้าของ แล้วกะพริบตาช้า ๆ เพื่อเป็นการแสดงความรัก ในแมวอีกหลายตัวอาจแสดงความรักด้วยการนวด ซึ่งจริง ๆ พฤติกรรมนี้ เป็นพฤติกรรมที่ลูกแมวทำตั้งแต่ยังเด็กตอนกินนมแม่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เขารู้สึกดีและปลอดภัย เมื่อโตขึ้นมาแล้วแมวหลาย ๆ ตัวยังทำพฤติกรรมนี้อยู่กับเจ้าของแสดงให้เห็นถึงความรู้สึกที่ดีกับเจ้าของ ในขณะที่น้องแมวหลายตัว อาจจะแสดงความรักโดยการเอาหัวมาชนเบา ๆ หรือมาถูกับตัวเรา ส่วนการขบเบา ๆ ก็อาจเป็นการแสดงความรักได้เช่นกัน อย่างที่กล่าวข้างต้นว่าเวลาน้องแมวมีความสุข อาจจะรู้สึกมันเขี้ยวแล้วเผลองับเจ้าของ พฤติกรรมนี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นพฤติกรรมที่แสดงถึงความรัก แต่เป็นพฤติกรรมที่เจ้าของไม่ควรสนับสนุน ถ้าน้องแมวทำ อาจจำเป็นที่จะต้องแสดงความไม่สนใจ เพื่อให้เขาเรียนรู้ว่าพฤติกรรมนี้ไม่ควรทำ

ในน้องแมวป่วย ส่วนใหญ่จะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ที่เจ้าของสามารถสังเกตได้ เช่น การซ่อนตัว ไม่เล่นเหมือนปกติ กินอาหารน้อยลง แต่ในบางโรค น้องแมวอาจกินอาหารและน้ำเพิ่มขึ้นกว่าปกติ แต่กลับไม่อ้วนขึ้น ก็เป็นอีกอาการหนึ่งที่เจ้าของต้องสังเกต ในบางตัวอาจแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ อาจเกิดจากความเจ็บปวดที่มาจากโรคที่เป็น ทำให้เมื่อถูกจับต้องอาจมีการขู่หรือกัดเจ้าของทั้ง ๆ ที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ในน้องแมวที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบขับถ่าย ก็อาจจะแสดงพฤติกรรม การขับถ่ายไม่เป็นที่ ไม่ขับถ่ายในกระบะทรายเหมือนที่เคยทำ สิ่งเหล่านี้เป็นพฤติกรรมบางส่วน ที่เจ้าของควรสังเกต อย่างไรก็ตาม ถ้าเมื่อใดที่เจ้าของเห็นน้องแมวมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม อาจเป็นสัญญาณถึงความเจ็บป่วยหรือความเครียด เจ้าของควรรีบนำน้องแมวไปพบสัตวแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และแนวทางรักษา ได้ทันท่วงที.

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สัตวแพทย์หญิง ดร.จุฑามาส เบ็ญจนิรัตน์
อาจารย์ประจำภาควิชาสรีรวิทยา คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และอาจารย์ประจำคลินิกพฤติกรรม โรงพยาบาลสัตว์เล็ก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย