รายงานข่าวจากศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี ธนาคารทหารไทยธนชาต เปิดเผยว่า ได้ประเมินปี 64 ยอดขายรถยนต์ในประเทศจะอยู่ที่ 7.35 แสนคัน ลดลง 7.1% จากปีก่อน เนื่องจากโควิด-19 ระบาดหนัก โดยคาดว่ายอดขายจะลดลงในไตรมาส 3 มาจากมาตรการล็อกดาวน์ และกำลังซื้อในประเทศที่เปราะบางก่อนที่ในไตรมาสที่ 4 ยอดขายจะเริ่มทยอยฟื้น โดยได้รับอานิสงส์จากการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมกว่า 70% ของประชากรรวมในประเทศตามแผนของภาครัฐ รวมทั้งได้แรงพยุงจากการส่งออกที่ฟื้นตัว และรายได้เกษตรกรที่ดีขึ้นจากราคาและผลผลิตที่ดีขึ้น

สำหรับปี 64 รถยนต์นั่งส่วนบุคคลจะได้รับผลกระทบหนักกว่ารถยนต์เชิงพาณิชย์ โดยคาดว่ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลจะหดตัว 11.1% ในขณะที่รถยนต์เชิงพาณิชย์จะหดตัว 4.1% เนื่องจากการแพร่ระบาดจะบั่นทอนกำลังซื้อและความเชื่อมั่นให้ลดลง โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยว ซึ่งความต้องการรถยนต์นั่งส่วนบุคคลสูงกว่ารถยนต์เชิงพาณิชย์

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม ได้แก่ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งหากไม่คลี่คลายภายในไตรมาส 3 จะส่งผลต่อให้ยอดขายลดลงได้อีก, กำลังซื้อที่เปราะบางและความเชื่อมั่นด้านสถานะการเงินของผู้บริโภค, ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน, หนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงกว่า 93% ต่อจีดีพี และ ปัญหาชิพขาดแคลน ส่งผลต่อการผลิตรถยนต์ ซึ่งคาดกว่าจะเริ่มผ่อนคลายลงในช่วงไตรมาส 2 ของปี 65 ตามอัตราการฉีดวัคซีนทั่วโลกที่ครอบคลุมประชากรมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตชิพทั่วโลกกลับมาผลิตได้ปกติอีกครั้ง ประกอบกับความต้องการชิพสำหรับอุปกรณ์การทำงานที่บ้านทั้งคอมพิวเตอร์ ระบบคลาวด์ลดลง ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์มีชิพสำหรับผลิตรถยนต์ได้เพียงพอ

อย่างไรก็ตามแม้ว่ายอดขายรถยนต์จะลดลงในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โดยได้รับผลจากการระบาดของโรคโควิด-19 แต่ยังมีปัจจัยบวกขั้นพื้นฐานที่ยังสนับสนุนเป็นแรงส่งให้ยอดขายรถยนต์กลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงปลายปี ได้แก่ การส่งออกฟื้นตัว, รายได้เกษตรกรที่ดีขึ้น, การทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขายจากดีลเลอร์, ดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ, อายุรถยนต์เฉลี่ยบนท้องถนนที่มากขึ้น ทำให้เกิดความต้องการเปลี่ยนรถใหม่ และเทคโนโลยีใหม่ของรถยนต์ที่จูงใจผู้ซื้อ ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยประคองให้ยอดขายรถยนต์ฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่ 4 ปี 64 เป็นต้นไป คาดว่ามีโอกาสที่ยอดขายรถยนต์กลับเข้าสู่ปกติ 8.6 แสนคันได้ในปี 65