เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 3 ส.ค. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสวนป่าเบญจกิติ ระยะที่ 2-3 ณ สวนสาธารณะ “เบญจกิติ” ถนนรัชดาภิเษก เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมข้าราชการ เฝ้าฯ รับเสด็จ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงศีล พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร

จากนั้นเสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปยังแท่นพิธี ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายสวนเบญจกิติ โดยถ่ายทอดผ่านจอมอนิเตอร์ แล้วเสด็จเข้าพลับพลาพิธี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ประทับพระราชอาสน์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงหลั่งทักษิโณทก พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวาย เหรียญกษาปณ์ที่ระลึก และเหรียญเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (เหรียญที่ระลึกประดับแพรแถบ) ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี จำนวนละ 1 ชุด

ต่อมาเสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปยังบริเวณจัดนิทรรศการ “สวนป่าเบญจกิติ” ทอดพระเนตรนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของสวนป่า ระยะที่ 2-3 ในสวนสาธารณะ “เบญจกิติ” แล้วเสด็จออกจากบริเวณจัดนิทรรศการฯ ไปยังบริเวณฉายพระบรมฉายาลักษณ์ ฉายพระบรมฉายาลักษณ์ พร้อมสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และคณะกรรมการจัดงานฯ จำนวน 3 ชุด

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปยังที่ปลูกต้นไม้ แล้วทรงปลูกต้นรวงผึ้ง จำนวน 1 ต้น เมื่อสมควรแก่เวลาเสด็จฯ ไปประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จออกจากสวนสาธารณะ “เบญจกิติ” กลับพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

โครงการจัดสร้างสวนป่าเบญจกิติ ระยะที่ 2-3 ดำเนินการออกแบบภายใต้แนวคิดในการสืบสานพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการปลูกป่าในใจคน ด้วยการเป็นสวนป่าสำหรับ คนเมือง (Urban Forest) ที่เชื่อมโยงและเอื้อต่อการเข้ามาทำกิจกรรมและใช้ประโยชน์ในวิถีชีวิตของคนเมือง เป็นแหล่งเรียนรู้มีชีวิต ที่สร้างความผูกพันและสำนึกรักในคุณค่าของป่า น้ำ ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วม และสำนึกหวงแหนดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ในการออกแบบได้เน้นให้มีพื้นที่สวนป่ามากที่สุด มีพื้นที่ป่าและพื้นที่น้ำร้อยละ 85 โดยปลูกต้นไม้เพิ่ม ในพื้นที่โครงการฯ กว่า 7,000 ต้น มีพรรณไม้ประมาณ 350 ชนิด ทั้งไม้ใหญ่ ไม้พุ่ม ไม้คลุมดิน และไม้น้ำ และเพื่อให้สวนป่าแห่งนี้สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง จึงได้ออกแบบให้มีบึงน้ำจำนวน 4 บึง สามารถ กักเก็บน้ำได้ถึง 128,000 ลูกบาศก์เมตร ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครต่อไปในอนาคต

สำหรับการบริหารจัดการน้ำในโครงการได้ใช้ระบบบำบัดน้ำแบบบึงประดิษฐ์ โดยใช้กระบวนการทางธรรมชาติของระบบรากพืชชุ่มน้ำ และได้ออกแบบบ่อดักตะกอน ซึ่งเป็นจุดแรกในการรับน้ำจากคลองไผ่สิงโต มีสารแขวนลอยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบำบัดช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำจากคลองไผ่สิงโต เพื่อนำมาใช้รดน้ำต้นไม้ในโครงการ อีกทั้งมีเส้นทางเดิน ทางวิ่ง ทางจักรยาน ระยะทางรวม 4 กิโลเมตร มีทางเดินศึกษาธรรมชาติลัดเลาะไปตามต้นไม้ใหญ่และบึงน้ำ มีการออกแบบทางเดินลอยฟ้า (Sky Walk) ความสูง 5-8 เมตร ที่สามารถมองเห็นมุมมองในระยะสูงเป็นอีกหนึ่งจุดไฮไลต์ของสวนที่สามารถให้ทุก ๆ คน เดินเชื่อมไปยังส่วนอื่น ๆ ของพื้นที่สวนป่าได้ ในส่วนของงานสถาปัตยกรรม ได้ออกแบบอาคารโรงงานผลิตยาสูบเดิมให้เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต การเรียนรู้ที่หลากหลาย

มีพื้นที่สำหรับการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สำหรับอาคารโกดังเดิม จำนวน 3 หลัง ได้ปรับปรุงเป็นอาคารกีฬา และได้เปิดพื้นที่กลางอาคารทั้ง 4 หลัง ให้โปร่งโล่ง และปลูกต้นไม้เพิ่มกลางอาคารโดยใช้แนวคิดออกแบบอาคารเขียว เป็นพื้นที่ที่ประชาชนได้ใช้ทำกิจกรรมร่วมกัน โดยสวนป่าแห่งนี้ เป็นสวนที่แสดงให้เห็นถึงการน้อมนำพระราชดำริมาพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์กับปวงชนชาวไทย ที่สร้างการตระหนักรู้ถึงการอยู่ร่วมกันระหว่าง คน สัตว์ ป่า การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน สวนแห่งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ประชาชนชาวไทยได้มีส่วนร่วมแสดงความจงรักภักดีแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ที่จะมาถึงนี้ และกรมธนารักษ์ คาดหวังว่า สวนป่าแห่งนี้จะช่วยให้กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองแห่งความสุขต่อไปได้