วันที่ 6 ส.ค. คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัวเครื่องแบ่งและบรรจุวัคซีนอัตโนมัติเพื่อช่วยดูดวัคซีนโควิด-19 บรรจุลงเข็มฉีดยาแบบแม่นยำรวดเร็วทำให้มีวัคซีนฉีดให้คนมากขึ้น ทาง ผศ.ดร.จุฑามาศ รัตนวราภรณ์ ประธานหลักสูตรวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การพัฒนาเครื่องนี้ทางจุฬาฯ เองได้ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และภาคเอกชน พัฒนานวัตกรรมคิดค้นเครื่องแบ่งและบรรจุวัคซีนด้วยระบบอัตโนมัติช่วยให้การดูดวัคซีนแอสตราเซเนกาเพื่อแบ่งบรรจุวัคซีนลงเข็มฉีดยามีความแม่นยำและรวดเร็ว เพียง 4 นาทีก็สามารถบรรจุวัคซีนลงเข็มฉีดยาได้ 12 เข็ม หรือ 12 โด๊ส ช่วยแบ่งเบาภาระของบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้มีวัคซีนในการฉีดเพิ่มขึ้น 20% ช่วยลดการใช้เข็มฉีดยาชนิดที่ลดปริมาณยาคงค้างในกระบอกฉีดยา

อีกทั้งเครื่องนี้การทำงานเป็นระบบสายพาน ใช้เจ้าหน้าที่ในการควบคุมเครื่องเพียง 1 คน จากเดิมที่ต้องใช้หลายคนในการทำงานนี้ จนทำให้บุคลากรทางการแพทย์เหนื่อยล้า เนื่องจากต้องเพ่งดูปริมาณวัคซีนให้ได้ตามที่กำหนด และเป็นการลดการปนเปื้อน เพราะจุดที่สัมผัสกับขวดฉีดยาจะมีการเปลี่ยนทุกครั้ง โดยเครื่องนี้สามารถดึงวัคซีนจากขวดยาได้วันละ 12,000 โด๊สและสามารถปรับปริมาณการดูดวัคซีนได้ตามต้องการจึงสามารถใช้กับวัคซีนทางเลือกชนิดอื่นได้

โดยตอนนี้เครื่องต้นแบบได้ใช้งานภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีประสิทธิภาพและได้ผลดี และได้รับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว คาดว่าในเดือนแรกที่เริ่มผลิตเครื่องนี้จะผลิตได้ 20 เครื่อง โดยอนาคตจะผลิตได้เดือนละ 100 เครื่อง ซึ่งเครื่องนี้จะช่วยป้องกันวัคซีนที่จะสูญเสียระหว่างการบรรจุในเข็มฉีดยาและช่วยให้วัคซีนที่ตอนนี้ขาดแคลน มีเพิ่มขึ้นอีกด้วย ตอนนี้เตรียมที่จะร่วมมือกับหน่วยงานรัฐและโรงพยาบาลต่างๆ ที่สนใจเพื่อผลิตให้ และสามารถส่งออกเครื่องนี้ไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้