แสตมป์ยังร่วม “บันทึกประวัติศาสตร์” เป็นดั่งจดหมายเหตุ ถ่ายทอดเรื่องราวอันทรงคุณค่า สื่อแทนความรู้สึก เป็นที่ระลึกเนื่องในโอกาสครบรอบเหตุการณ์สำคัญ…

เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10 พาชมตราไปรษณียากรที่ระลึกซึ่งทรงคุณค่า งดงาม ชมภาพประวัติศาสตร์ ชื่นชมพระบารมีและพระราชกรณียกิจชมแสตมป์ดวงสำคัญ ๆ หาชมได้ยาก จากที่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้ออกแบบและผลิต ทั้งนี้ ธเนศ พลไชยวงศ์ ผู้ออกแบบแสตมป์ให้รายละเอียดพร้อมเล่าถึงการออกแบบว่า การจัดสร้างตราไปรษณียากรรัชกาลที่ 10 ในโอกาสสำคัญต่าง ๆ ไปรษณีย์ไทยได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้จัดสร้างมาแล้วหลายชุด นับแต่ ชุดที่ระลึกทรงบรรลุนิติภาวะ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 จวบถึงแสตมป์ที่ระลึก ชุด “วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” แสตมป์เฉลิมพระเกียรติ 70 พรรษา เนื่องในโอกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2565

“การออกแบบแสตมป์ที่ระลึกที่ผ่านมา มีนักออกแบบหลายท่าน สำหรับแสตมป์เฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 70 พรรษา ชุดนี้ออกแบบโดยได้อัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ที่ฉายคู่กับ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี มาจัดพิมพ์บนดวงแสตมป์ พร้อมด้วย ตราสัญลักษณ์พระปรมาภิไธยย่อ ว.ป.ร. ราคาดวงละ 10 บาท ใช้เทคนิคพิมพ์ฟอยล์ทองบริเวณตัวเลขราคาชุด”

การออกแบบแสตมป์ในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นดวงแสตมป์เป็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์ แต่หากย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2515 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) เจริญพระชนมายุ 20 พรรษา และทรงบรรลุนิติภาวะ ไปรษณีย์ไทยได้จัดสร้างตราไปรษณียากร ชุดที่ระลึกทรงบรรลุนิติภาวะ ในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 โดยอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์เป็นแบบตราไปรษณียากร จัดพิมพ์ในระบบ Photogravure ให้ความสวยงามนุ่มนวล ในราคาหน้าดวงคือ 75 สตางค์

ในปีเดียวกัน ไปรษณีย์ไทยได้จัดสร้างตราไปรษณียากรชุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ ชุดที่ระลึกวันสถาปนามกุฎราชกุมาร โดยอัญเชิญพระบรมรูปเดียวกับชุดที่ระลึกทรงบรรลุนิติภาวะเป็นแบบตราไปรษณียากร โดยมีพื้นหลังสีฟ้า และเพิ่มข้อความว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช THE CROWN PRINCE มีอักษรพระนามาภิไธย “ว ก” เหนืออักษรพระนามาภิไธยมีรูปจุลมงกุฎ มีรัศมี ราคาหน้าดวงคือ 2 บาท ซึ่งตราไปรษณียากรทั้งสองชุดนี้ คุณผ่องศรี ศาลยาชีวิน และคุณวันเพ็ญ บำรุงราษฎร์ นักออกแบบตราไปรษณียากรชุดสำคัญของกรมไปรษณีย์โทรเลขในขณะนั้น เป็นผู้ออกแบบ

“แสตมป์เป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกหน้าประวัติศาสตร์ บันทึกเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ สิ่งที่เกิดขึ้นนักออกแบบจะถ่ายทอดบอกเล่าไว้บนดวงแสตมป์ แสตมป์จึงบันทึกเรื่องราว บันทึกยุคสมัย”

สำหรับแสตมป์ที่ออกแบบ มีทั้ง ภาพวาด ใช้วิธีการวาด ซึ่งการวาดก็มีความสวยงามแบบหนึ่ง สามารถเน้น เพิ่มเติมใส่สีสัน ฯลฯ ภาพวาด ภาพเขียน จะทำได้ดีในส่วนต่าง ๆ เหล่านี้ ส่วน ภาพถ่าย ก็มีความสวยงาม เป็นอีกเทคนิคการออกแบบดวงแสตมป์ บันทึกบอกเล่าประวัติศาสตร์ได้ชัดเจน ถูกต้อง ทั้งนี้ การตัดทอนบางสิ่งบางอย่างไป แม้จะเป็นเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็อาจผิดเพี้ยนไป ส่วนหนึ่งนี้จึงมีการนำภาพถ่ายมาสร้างสรรค์ นำมาจัดทำเป็นดวงแสตมป์

ผู้ออกแบบแสตมป์ ธเนศอธิบายเพิ่มเกี่ยวกับแสตมป์สำคัญยิ่งอีกว่า ชุดที่ระลึกฉลองวันพระราชสมภพครบ 4 รอบ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร อีกหนึ่งชุดที่งดงาม แสตมป์ชุดนี้วาดออกแบบไว้โดยพระรูปเมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ฉลองพระองค์เครื่องแบบทหาร ทรงใส่พระทัยในอาชีพเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนาอันเป็นหัวใจของเกษตรกรไทย เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวไทยตลอดมา คราวที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปที่จังหวัดสุพรรณบุรี นำมาเป็นภาพฉากหลัง โดยชุดนี้เป็นภาพวาดสีนํ้าเป็นภาพจำภาพหนึ่งในอีกหลาย ๆ ภาพของผู้ออกแบบ

ในโอกาสมหามงคล พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 และเฉลิมพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปรษณีย์ไทยได้จัดสร้าง ตราไปรษณียากร ชุดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อบันทึกช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งต่อพสกนิกรไทย บันทึกเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ชาติไทย

“แสตมป์ที่ออกแบบ ได้เชิญพระบรมฉายาลักษณ์ในฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารบกเต็มยศ เป็นแบบตราไปรษณียากร ประกอบอักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. และภาพพระบรมมหาราชวังเป็นพื้นหลัง จัดพิมพ์ด้วยเทคนิคพิเศษพิมพ์ห้าสี คือ ฟ้า เหลือง แดง ดำ และขาว ลงบน ฟอยล์กระจก เป็นครั้งแรกของไทยและของโลก ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษ ทำให้ภาพตราไปรษณียากรมีความสดใส เพิ่มความสวยงามแวววาวให้แก่ภาพบนตราไปรษณียากร”

พร้อมทั้งการพิมพ์สีทองปั๊มดุนนูนที่อักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. ปั๊มดุนนูนบริเวณพระฉายาลักษณ์ พิมพ์สีทองปั๊มดุนนูนที่คำว่า “ประเทศไทย THAILANDและตัวเลข 10 พิมพ์สีขาวคำว่า บรมราชาภิเษก 2562 CORONATION 2019, บาท BAHT และพิมพ์ลายเส้นสีทองบริเวณพระปรางค์ เจดีย์ มีความสวยงามสมพระเกียรติ ในราคาหน้าดวงคือ 10 บาท”

ตราไปรษณียากรที่ระลึกวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 66 พรรษา เป็นอีกชุดหนึ่งที่ออกแบบ โดยแสตมป์ชุดนี้เผยแพร่เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2561 กำหนดเป็นชนิดราคา 10 บาท ออกแบบภาพประทับนั่ง ทรงชุดทหาร พื้นหลังเป็นสีเหลืองสีประจำพระองค์

แสตมป์ที่ระลึกเฉลิมพระชนมพรรษา จะมีผู้ออกแบบหลายท่าน ทั้งนี้เพื่อให้มีความหลากหลาย ทั้งในด้านดีไซน์ ความสวยงามมีคุณค่าต่อการสะสม นอกจากการออกแบบแสตมป์ที่ระลึก แสตมป์สะสมในวาระโอกาสต่าง ๆ ได้ออกแบบ ตราไปรษณียากรทั่วไป ภาพพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 สำหรับใช้ในกิจการไปรษณีย์ทดแทนตราไปรษณียากรพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 โดยตราไปรษณีย์
ดังกล่าวออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2561 จัดพิมพ์ทั้งหมด 12 ชนิดราคา

“แสตมป์ที่ระลึกจะกำหนดจำนวนดวงแสตมป์ โดยถ้าหมดลงจะไม่พิมพ์เพิ่ม แต่ถ้าเป็นแสตมป์ทั่วไปจะพิมพ์เพิ่มขึ้นมาใหม่ได้โดยใช้แบบเดิม ในชุดนี้ก็น่าสนใจในมิติของงานดีไซน์ ออกแบบพระองค์ท่านอยู่ในรูปวงรี กรอบภาพเป็นลวดลายไทยลายผสมผสาน ส่วนตัวเลขมุมซ้ายบ่งบอกชุด”

การออกแบบแสตมป์ จากที่กล่าวมีทั้งผลงานที่เป็นภาพวาด และใช้ภาพถ่ายนำมาสร้างสรรค์ ออกแบบดวงแสตมป์ ในส่วนของภาพวาด แต่เดิมการถ่ายภาพยังไม่โดดเด่นเท่ากับปัจจุบัน แสตมป์ที่ผ่าน ๆ มาจะเป็นภาพวาดมากกว่า ปัจจุบันคอมพิวเตอร์กราฟิกมีบทบาทในการทำงานมากขึ้น อีกทั้งเทคโนโลยีการถ่ายภาพก็ดีมาก ๆ ภาพมีความละเอียด มีบทบาทต่อการพิมพ์แสตมป์ ซึ่งระยะหลังจะเห็นภาพถ่ายเข้ามาในการทำงานแสตมป์ เนื่องจากทำงานได้รวดเร็ว แต่อย่างไรก็ตามรูปแบบของภาพวาดในงานแสตมป์ก็ยังไม่ทิ้งไป ยังคงมีผลงาน มีคอลเลกชั่นแสตมป์ที่เป็นภาพวาดอยู่ในชุดต่าง ๆ

ที่สำคัญยิ่ง เป็นแสตมป์ที่ระลึกทรงคุณค่า ชวนย้อนชมภาพประวัติศาสตร์ ชื่นชมพระบารมี พระราชกรณียกิจ “ในหลวงรัชกาลที่ 10” เป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่ “ทรงคุณค่ายิ่ง”.