จากกรณีสมาชิกผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้โพสต์ถึงเรื่องราวที่พาลูกชายตนเองมาส่งโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากมีอาการปวดท้องหนัก แต่พยาบาลกลับไม่ให้รักษาทันที จนต้องนั่งรอบนรถเข็นหลายชั่วโมง จนสุดท้ายสิ้นใจระหว่างรอซึ่งในโพสต์ระบุว่าเป็นรพ.หนึ่งเเถวคลองสาน นั้น

เมื่อวันที่ 5 ส.ค.64 นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผอ.สำนักการแพทย์ กทม. กล่าวว่า ต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตอีกครั้ง หลังทราบเหตุนี้ได้ตรวจสอบไปทางรพ.แห่งนั้นในเขตคลองสาน ทราบว่า รพ.ได้รายงานเหตุการณ์ดังกล่าวมายังสำนักการแพทย์ในวันที่ 3 ส.ค.64 ซึ่งหลังจากได้สอบสวนเหตุการณ์เบื้องต้นและพูดคุยกับทางรพ.ทราบว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ส.ค.64ที่ผ่านมา โดยผู้ป่วยเป็นชายอายุ 21 ปี มาที่รพ.ในวันที่ 1 ส.ค.เวลา 21.35น.ด้วยอาการปวดท้อง ถ่ายเหลว และได้มีการยื่นบัตร หลังจากนั้นผู้ป่วยก็ได้ไปห้องน้ำ2-3ครั้ง จนกระทั่งเวลาประมาณ 23.05น.ก็มีคนเรียกเจ้าหน้าที่พยาบาลว่าผู้ป่วยหมดสติ เจ้าหน้าที่จึงได้รีบออกมาดูและได้นำตัวผู้ป่วยเข้าไปปฏิบัติการกู้ชีวิต แต่ก็ต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวอีกครั้งว่า เจ้าหน้าที่ไม่สามารถกู้ชีวิตได้และเสียชีวิตในเวลาต่อมาในเวลา 23.39น.

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่าในช่วงเวลาดังกล่าว คือตั้งแต่เวลา21.35-23.05น.รวมระยะเวลา 1ชั่วโมงครึ่งโดยประมาณนั้น มีคนไข้มาที่ รพ.แห่งนี้ค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งมีคนไข้มารอคิวรับการตรวจ 29 ราย โดยผู้เสียชีวิตจะเป็นลำดับที่ 27 ส่วนในห้องฉุกเฉินมีผู้ป่วยฉุกเฉิน 9ราย มีคนไข้ป่วยหนัก7ราย และมีคนไข้ที่รับกลับจาก Hospitel ซึ่งเป็นผู้ป่วยโควิดอีก 2ราย รวมแล้ว18ราย ทำให้เจ้าหน้าที่ที่ต้องดูแลในส่วนหน้า ที่ทำหน้าที่ในการคัดกรองซักประวัติและวัดสัญญาณชีพ วัดความดันไม่เพียงพอ เนื่องจากต้องไปช่วยกันดูแลผู้ป่วยในห้องฉุกเฉิน จึงทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น 

ซึ่งแท้จริงแล้วทางรพ.ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น แต่เนื่องจากด้วยภาระงานของบุคลากรและเจ้าหน้าที่ของรพ.มีมากขึ้น ที่ต้องจัดกำลังไปดูแลผู้ป่วยในศูนย์พักคอย รพ.สนามและHospitel ประกอบกับห้องฉุกเฉินของรพ.หลายๆแห่งปิด แต่รพ.ในสังกัด กทม.ทั้ง 11 รพ.ไม่ได้สั่งปิด เพราะยังมีผู้ป่วยที่ต้องให้บริการรักษาอยู่

หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น จึงได้นำมาศึกษาวิเคราะห์หาสาเหตุ ก็พบว่าเป็นบุคลากรไม่เพียงพอกับจำนวนผู้ป่วยที่เยอะขึ้นในช่วงเวลานั้น จึงได้วางแผนปรับแก้ไขโดยให้ทางรพ.จะต้องจัด เจ้าหน้าที่ให้เพียงพอในด้านหน้า โดยหลังจากที่ผู้ป่วยยื่นบัตรแล้วไม่ควรเกิน 30นาที จะต้องมีเจ้าหน้าที่เข้ามาทำการซักประวัติ คัดกรองเบื้องต้นผู้ป่วยก่อน และหากพบว่าหลังจากนั้นผู้ป่วยยังไม่ได้รับการรักษา ก็ต้องเข้ามาซักถามอาการเป็นระยะ เพื่อคัดกรองและประเมินอาการด้วยจะได้ส่งรักษาได้ทันเวลา

โดยให้ รพ.อื่นในสังกัดสำนักการแพทย์ กทม. ปฏิบัติตามแนวทางนี้ด้วยเช่นกัน พร้อมทั้งกำชับไม่ให้เกิดขึ้นเหตุการณ์เช่นนี้อีก รวมทั้งกำชับให้ รพ.มีการดูแลประชาชนด้วยความละเอียดรอบคอบ และเสริมกำลังเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอด้วย อย่างไรก็ตามทราบว่าหลังเกิดเหตุการณ์ทางรพ.ได้โทรศัพท์ติดต่อพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตแล้ว ทั้งนี้ รพ.ได้ดำเนินการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธีRT-PCR แล้วมีผลเป็นลบ จึงได้ก่อนมอบศพผู้เสียชีวิตให้ญาตินำไปบำเพ็ญกุศลต่อไป