การแข่งขันกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 11 ที่เมืองโซโล ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 30 ก.ค.-6 ส.ค.65 ซึ่งมี 11 ชาติอาเซียน ร่วมแข่งขัน กว่า 1,500 คน ใน 14 ชนิดกีฬา โดย การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ให้การสนับสนุนทัพนักกีฬาคนพิการไทย และเจ้าหน้าที่รวมทั้งสิ้น 479 คน ร่วมชิงชัย โดยจะมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์เพื่อการท่องเที่ยวและกีฬา ช่อง T Sports 7 ตลอดการแข่งขัน นั้น
ทั้งนี้ เจ้าภาพ อินโดนีเซีย ได้จัดการวิ่งคบเพลิงอาเซียนพาราเกมส์ 2022 ไปตามเมืองสำคัญที่ร่วมเป็นเจ้าภาพอย่าง โกรโบกาน, ซูโคฮาโย, คารากันยาร์ ก่อนจะเข้าสู่เมืองสุราการ์ตา หรือ “โซโล” เพื่อทำพิธีเปิดการแข่งขันที่สนามกีฬามานาฮาน ในวันที่ 30 ก.ค.นี้
เซนนี มาร์บัน ประธานคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า นักกีฬาอินโดนีเซีย ประเมินว่าจะทำได้อย่างน้อย 104 เหรียญทอง จากกีฬาหลักๆ อย่าง กรีฑา, แบดมินตัน, เทเบิลเทนนิส, ว่ายน้ำ, ยกน้ำหนัก และหมากรุก โดยมี ไทย เป็นคู่แข่งที่สำคัญที่สุด ในการแย่งตำแหน่งเจ้าเหรียญทอง เนื่องจากทีมพาราไทย เจ้าเหรียญทอง 6 สมัย ที่มีประสบการณ์สูงและมีความสามารถระดับแชมป์พาราลิมปิกเกมส์ อาทิ วีลแชร์เรซซิ่ง, บอคเชีย เป็นต้น บวกกับนักกีฬาไทย ที่เป็นสายเลือดใหม่ก็มีความแข็งแกร่งเช่นเดียวกัน
สำหรับอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 9 ที่มาเลเซีย เป็นเจ้าภาพ เมื่อปี 2560 ซึ่งเป็นการแข่งขันครั้งล่าสุดนั้น อินโดนีเซีย คว้าเจ้าเหรียญทอง ไปครอง ทำได้ 126 ทอง 75 เงิน 50 ทองแดง ส่วน ไทย ทำได้ 68 ทอง 73 เงิน 95 ทองแดง ได้อันดับ 3 อย่างไรก็ตาม ทัพพาราไทย ถือว่าประสบความสำเร็จมากที่สุดในการแข่งขันอาเซียนพาราเกมส์ ด้วยการเป็นเจ้าเหรียญทอง 6 สมัย ในการแข่งขัน ครั้งที่ 2 ที่เวียดนาม ปี 2546, ครั้งที่ 3 ที่ฟิลิปปินส์ ปี 2549, ครั้งที่ 4 ที่ไทย ปี 2551, ครั้งที่ 5 ที่มาเลเซีย ปี 2552, ครั้งที่ 6 ที่อินโดนีเซีย ปี 2554 และครั้งที่ 8 ที่สิงคโปร์ ปี 2558
อนึ่ง มหกรรมกีฬาอาเซียนพาราเกมส์ เริ่มจัดการแข่งขันครั้งแรกในปี 2544 ที่มาเลเซีย และดำเนินการจัดการแข่งขันมาแล้ว 9 ครั้ง คู่ขนานไปกับศึกซีเกมส์ โดยการแข่งขันครั้งที่ 10 ที่กำหนดจัดขึ้นที่ฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2563 ต้องยกเลิกการแข่งขันไป เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ศึกอาเซียนพาราเกมส์ ต้องว่างเว้นจากการแข่งขันนานถึง 5 ปี