เมื่อวันที่ 11 ก.ค. รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของประเทศไทย โดยระบุข้อความว่า “ฟังข่าวแล้วคิดตาม…การอ้างว่านำเสนอให้รับรู้เฉพาะตัวเลขที่ป่วยในโรงพยาบาล เพื่อสะท้อนสถานะของระบบสาธารณสุขนั้น เป็นคำกล่าวอ้างที่ตื้นเขินหรือไม่? มองเฉพาะส่วนงานที่ดูแลใช่ไหม? โดยมิได้คิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อคนส่วนใหญ่ในสังคมหรือเปล่า?
การอ้างว่านำเสนอให้รับรู้เฉพาะตัวเลขที่ป่วยในโรงพยาบาลนั้นสะท้อนสถานการณ์ระบาดจริง ก็เป็นคำกล่าวอ้างที่ถูกต้องจริงหรือ? การอ้างว่านำเสนอให้รับรู้เฉพาะตัวเลขที่ป่วยในโรงพยาบาล เพราะประเทศอื่นก็ทำกันทั่วโลกนั้น ก็เป็นคำกล่าวอ้างที่ฟังไม่ขึ้นหรือเปล่า?
คำถามที่ประชาชนควรคิด
หนึ่ง คนทั่วไปในสังคมจะตรัสรู้ไหมว่า ตอนนี้ระบาดหนักเพียงใด ติดเชื้อกันมากเพียงใด หากบอกเฉพาะตัวเลขในโรงพยาบาล แต่ไม่พยายามที่จะบอกจำนวนการติดเชื้อในสังคม แม้ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ หรืออาการเล็กน้อย แต่การไม่บอกสถานการณ์อย่างละเอียดนั้นย่อมจะทำให้คนไม่รู้เท่าทันสถานการณ์ เสี่ยงต่อการประพฤติปฏิบัติตัวที่ไม่เคร่งครัด จนกว่าจะเจอแจ๊กพอตป่วยรุนแรง หรือลามไปยังคนกลุ่มเสี่ยงในครอบครัว
คนทั่วไปส่วนใหญ่ในสังคม ไม่ได้มีอภิสิทธิ์ที่จะเข้าถึงยาเลิศหรูประเคนให้ถึงที่ ไม่มีทีมดูแลเป็นพิเศษ แต่ต้องดิ้นรนเพื่อเข้าถึงบริการตามสิทธิพื้นฐานที่ตนมี
สอง หากบอกว่าตัวเลขป่วยในโรงพยาบาล สะท้อนสถานการณ์ระบาดจริง ก็ลองนำเสนอให้คนรับรู้ด้วยสิว่า สถานการณ์ระบาดจริงตอนนี้เป็นเช่นไร ไม่ใช่ปล่อยจอยให้คนในสังคมต้องเดาเอาเอง หรือต้องพึ่งตัวเอง กวาดตามองรอบตัวแล้วพบว่าหนักหนามากมายกว่าตัวเลขที่เห็นนำเสนอในแต่ละวัน สองหมื่นสามหมื่นคนต่อวัน ที่กล่าวอ้างมานั้น เป็นจากในระบบรัฐสิทธิเจอแจกจบ แต่โดยแท้จริงแล้วมีอีกจำนวนมากที่ไปอยู่นอกระบบ เช่น ภาคเอกชน และอื่นๆ มิใช่หรือ หากใช่ เหตุใดจึงไม่พยายามไปประเมิน และนำมานำเสนอให้คนในสังคมได้ทราบ เพื่อจะได้ตระหนักถึงสถานการณ์ได้แม่นยำขึ้น
สาม มีหลักฐานไหมที่ทุกประเทศทั่วโลกนั้นนำเสนอตัวเลขต่ำกว่าความเป็นจริงกันหมด? ทำเพื่ออะไร? เพื่อรักษาภาพลักษณ์ประเทศ? หวังลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของตน? หรืออื่นๆ? ที่สำคัญคือ หากวิเคราะห์ตามหลักเหตุและผล จำเป็นไหมที่คนอื่นทำไม่ดี ไม่ถูกต้อง หลอกลวง แล้วเราต้องทำตาม?
ที่สำคัญกว่านั้นคือ การนำเสนอตัวเลขให้ต่ำกว่าความเป็นจริง จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อคนในสังคมที่จะรับรู้ความเสี่ยงที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง นำไปสู่การปฏิบัติตัวไม่ถูกต้อง ประมาท ไม่เคร่งครัด สุดท้ายแล้ว direct impact คือการควบคุมการระบาดไม่ได้ ติดเชื้อกันมากมายต่อเนื่อง ป่วยรุนแรง เสียชีวิต และเสี่ยงต่อ Long COVID ในหมู่ประชากรในประเทศนั้นเองมิใช่หรือ?
แล้วจะทำเช่นนั้นเพื่ออะไร? หากเราเห็นคุณค่าของชีวิตคน ก็ควรขับเคลื่อนให้ประเทศเดินหน้าไปได้ด้วยความราบรื่นและ “ปลอดภัย” หลักการที่ถูกต้องคือ การรับรู้สถานการณ์จริง จะส่งผลให้ทุกคนมี harm and risk perception ที่ถูกต้อง และเลือกปฏิบัติตัวได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ ทำให้ถูกต้องเถิดครับ จะสู้และรับมือภาวะคุกคามได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราจำเป็นต้องทำให้ทุกคนรู้เท่าทันสถานการณ์ จึงจะเป็น Health literate society”..
ขอบคุณภาพประกอบ : Thira Woratanarat