นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. ได้เห็นชอบข้อเสนอของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือบรรเทาค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา ซึ่งเรื่องนี้ที่ประชุมครม.เห็นชอบหลักการไปแล้ว และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้จัดทำรายละเอียดมาเสนอ ครม. เพื่ออนุมัติใช้เงินกู้ 2.3 หมื่นล้านบาทไปดำเนินการ โดยเป็นของกระทรวงศึกษาธิการ วงเงิน 22,000 ล้านบาท และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วงเงิน 10,000 ล้านบาท
สำหรับแนวทางการช่วยเหลือ แยกเป็น 1. กระทรวงศึกษาธิการ ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาให้นักเรียน/นักศึกษา ทุกคนทุกกลุ่มในสถานศึกษาของรัฐและเอกชนทั้งในและนอกสังกัด ศธ. รวมทั้งสิ้น 10,952,960 คน โดยให้ความช่วยเหลือ 2,000 บาทต่อคน ในภาคการศึกษาที่ 1/2564 กรอบวงเงิน 21,905.92 ล้านบาท และ มาตรการที่ 2 สนับสนุนสถานศึกษาในการจัดการเรียนการสอนและแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรควิด-19 ไม่เกิน 10,000 บาทต่อโรงเรียน รวม 34,887 แห่ง แบ่งเป็น สถานศึกษาของรัฐ 30,879 แห่ง และสถานศึกษาเอกชน ที่รับเงินอุดหนุนจากรัฐ อีก 4,008 แห่ง วงเงินรวม 94.08 ล้านบาท
2. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โครงการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของนิสิต นักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน กรอบวงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยนิสิต นักศึกษา กลุ่มเป้าหมายจำนวน 1,788,522 คน แบ่งเป็น 1.นิสิต นักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในสังกัด อว. 1,458,978 คน 2. นิสิต นักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาภาคเอกชนในสังกัด อว. 285,000 คน และ 3. นักศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐนอกสังกัด อว. 44,544 คน
สำหรับแนวทางการช่วยเหลือ คือ 1. ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐจำนวน 100 แห่ง ตั้งแต่ระดับต่ำกว่าปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษาทั้งภาคปกติ ภาคพิเศษ และภาคสมทบ โดยลดค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษา ที่ต้องจ่ายในส่วนที่ไม่เกิน 50,000 บาท ช่วยเหลือในอัตราร้อยละ 50 ส่วนตั้งแต่ 50,001–100,000 บาท ช่วยเหลืออัตราร้อยละ 30 และตั้งแต่ 100,001 บาทขึ้นไปช่วยเหลือในอัตราร้อยละ 10 โดยรัฐบาลและสถาบันอุดมศึกษาภาครัฐจะร่วมกันช่วยเหลือเยียวยาในสัดส่วน 6:4
2. ช่วยค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาภาคเอกชน จำนวน 72 แห่ง โดยเยียวยาค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา คนละ 5,000 บาท และ 3. ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา อื่น ๆ เช่น การให้ทุนศึกษา ขยายเวลาการชำระ ค่าธรรมเนียมการศึกษา ผ่อนจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษา ขยายเวลาสำเร็จการศึกษา ลดและคืนค่าหอพัก รวมทั้งการจ้างงาน/ส่งเสริมรายได้ให้กับนักศึกษา เป็นต้น
“มาตรการช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาทั้งของกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษาฯ มุ่งช่วยเหลือผู้ปกครองนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ให้บุตรหลานยังสามารถอยู่ในระบบการศึกษาได้ต่อไปได้ ขณะเดียวกันยังลดภาระค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือนให้กับประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจอยู่ในขณะนี้ กรณีสถานศึกษาที่อยู่ภายใต้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ครม.ขอให้พิจารณาใช้แหล่งเงินอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นลำดับแรกก่อน”