นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท.มีความเป็นห่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดภายในโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นทั้งกลุ่มอาหาร ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และสิ่งทอ ซึ่งมีมากกว่า 1,500 โรงงาน และหากมีการระบาดโควิด-19 มากไปกว่านี้ ในระยะสั้น จะทำให้โรงงานอุตสาหกรรมต้องหยุดกิจกรรมผลิต และไม่สามารถส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าได้ และในระยะยาวไทยจะถูกลดเครดิตความเชื่อมั่นจากลูกค้า ทำให้ลูกค้าหันไปสั่งซื้อสินค้าจากประเทศคู่ค้าอื่นแทนไทย โดยสิ่งที่น่ากลัวสุดคือความเชื่อมั่นระยะยาวที่ลูกค้าจะหนีไปซื้อสินค้าจากประเทศอื่น

“ประเมินเบื้องต้น พบว่า 4 กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว มีสัดส่วนต่อการส่งออกมากว่า 50% ของการส่งออกภาพรวม หากได้รับผลกระทบโควิดจนไม่สามารถผลิตได้จะทำให้มูลค่าส่งออกหายไปประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หรือหายไปประมาณ 30,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือรายได้จากการส่งออกอาจสูญถึง 2-3 แสนล้านบาทจากนี้ไปในช่วงระยะเวลา 6 เดือน เรียกได้ว่า ภาคการส่งออกอยู่ในภาวะความเครียดจากการระบาดของโควิดลามเข้าโรงงานแทบทุกอุตสาหกรรมที่จะส่งผลกระทบอย่างมาก แต่ที่หนักสุดก็จะเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานแบบเข้มข้น โดยในแง่ตัวเลขการส่งออกจากที่จะส่งออกได้ 10% ก็จะเหลือส่งออกขยายตัวได้แค่ 7% โดยเดือนที่เหลือต้องส่งอกให้ได้เดือนละไม่ต่ำกว่า 600,000 ล้านบาท เพื่อให้ส่งออกปี 64 โตได้ 10%”

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก ได้แก่ สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ที่มีความรุนแรงในประเทศ, กรณีการติดเชื้อในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมเริ่มแพร่กระจายมากขึ้น, ปริมาณความต้องการตู้สินค้ายังไม่เข้าสู่ภาวะสมดุล ยังไม่เพียงพอ ค่าระวางเรือยังคงปรับตัวอยู่ในทิศทางขาขึ้น ปรับขึ้นเกือบทุกเส้นทาง, การบริหารจัดการภายในท่าเทียบเรือที่ขาดประสิทธิภาพ และปัญหาจากการล่าช้าของเรือ ทำให้ตู้สินค้าไม่สามารถหมุนเวียนในระบบได้ดีเพียงพอ, แรงงานขาดแคลน, ปัจจัยการผลิตมีปริมาณไม่เพียงพอ ส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์ อาทิ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ

ทั้งนี้ภาคการส่งออกอยากเรียกร้องให้รัฐบาลบริหารจัดการวัคซีนใหักับกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมในภาคการส่งออก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะต้องให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อภาคการผลิต และไม่เห็นด้วยรัฐบาลที่จะล็อกดาวน์แบบเต็มรูปแบบ ขอให้ยกเว้นภาคการผลิต และกิจกรรมโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและนำเข้า เช่น การปฏิบัติงานของท่าเรือ การขนส่งสินค้าเข้าสู่ท่าเรือ

นอกจากนี้ขอเรียกร้องให้ปรับใช้มาตรการทางสาธารณสุขที่เป็นมาตรฐานเดียวจากส่วนกลาง เพื่อให้สามารถดำเนินการเหมือนกันในแต่ละพื้นที่จังหวัด โดยเฉพาะกรณีโรงงานที่มีพนักงานอยู่ในกลุ่มเสี่ยง และขอเรียกร้องให้หน่วยงานราชการเร่งปรับปรุงการทำงานในการจัดการด้านเอกสารออนไลน์ และการขออนุญาต ใบรับรองเพื่อการส่งออกนำเข้าผ่านระบบเนชั่นเนล ซิงเกิ้ล วินโดว์ เพื่อลดการสัมผัสจากการเข้าไปติดต่อราชการ