เมื่อวันที่ 2 ส.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการเดินรถโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง (Soft Opening) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร (กม.) และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กม. ผ่านระบบออนไลน์ ที่ทำเนียบรัฐบาล มีคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร่วมเป็นสักขีพยาน ขณะที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม พร้อมด้วยนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ และนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.คมนาคม และผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ร่วมพิธีเปิดที่สถานีกลางบางซื่อ ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้กดปุ่มเปิดหวูดขบวนรถไฟสายสีแดงขบวนปฐมฤกษ์ เส้นทางบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ออกจากสถานีกลางบางซื่อด้วย

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีแดงจะเปิดให้ประชาชนใช้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายถึงปลายเดือน พ.ย.64 หรือประมาณ 4 เดือน ก่อนเปิดให้บริการแบบเชิงพาณิชย์ต่อไป อัตราค่าโดยสาร 12-42 บาท ซึ่งได้สั่งการให้พิจารณาจัดทำตั๋วรายเดือน หรือตั๋วพิเศษสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ นักเรียน และนักศึกษาด้วย อย่างไรก็ตามรถไฟฟ้าสายนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ประชาชนจากชานเมืองเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพฯ ช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัด และยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตด้านการเดินทางให้ประชาชนได้ใช้บริการแบบสะดวก รวดเร็ว ประหยัด และปลอดภัยด้วย โดยระยะแรกจะเปิดให้บริการเวลา 06.00-20.00 น. ซึ่งการเดินทางจากบางซื่อ-รังสิต ใช้เวลา 25 นาที และบางซื่อ-ตลิ่งชัน ใช้เวลา 15 นาที ช่วยลดระยะเวลาการเดินทางได้มากจากปกติต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ในการเปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการในครั้งนี้ จะบริหารจัดการพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ เป็น 2 ส่วนคือ 1.ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง บริเวณประตูที่ 1 และ 2.ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 แก่ประชาชน บริเวณประตูที่ 2-4 ซึ่งจะดำเนินการแยกส่วนอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามหลังจากนี้กระทรวงคมนาคมจะเร่งผลักดันโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอีก 4 เส้นทาง ได้แก่ 1. ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. 2. ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายาระยะทาง 14.8 กม. 3. ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 4.3 กม. และ 4.ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง และช่วงบางซื่อ-หัวหมาก หรือ Missing Link ระยะทาง 25.9 กม.  

นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า คาดว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะสามารถเปิดประมูลทั้ง 4 เส้นทางได้ในปลายปี 64 หรืออย่างช้าไม่เกินต้นปี 65 รวมถึงเตรียมจะเปิดประมูลในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พีพีพี) เพื่อให้เอกชนเข้ามาบริหารการเดินรถ ติดตั้งอาณัติสัญญาณ และซ่อมบำรุงรถไฟสายสีแดงทั้งระบบด้วย  โดยคาดว่าภายใน 3-5 ปี จะได้ตัวเอกชนจะเข้ามาบริหารการเดินรถสายสีแดงทั้งหมด แทนบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ที่จะเป็นผู้บริหารการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงในระหว่างนี้ไปก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง 4 เส้นทาง วงเงินรวม 6.75 หมื่นล้านบาท ได้แก่ 1. ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6.57 พันล้านบาท 2. ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 1.02 หมื่นล้านบาท 3. ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 4.3 กม. วงเงิน 6.64 พันล้านบาท และ 4.ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง และช่วงบางซื่อ-หัวหมาก ระยะทาง 25.9 กม. วงเงิน 4.41 หมื่นล้านบาท  

ด้านนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่า รฟท. กล่าวว่า ถือเป็นขบวนปฐมฤกษ์ที่เปิดให้ประชาชนใช้บริการฟรี โดยชั่วโมงเร่งด่วนจะเดินรถทุก 15 นาที และนอกชั่วโมงเร่งด่วนทุก 30 นาที รวมวันละ 78 เที่ยวต่อเส้นทาง รับผู้โดยสารได้สูงสุด 1,710 คนต่อขบวน ในระยะนี้ต้องจำกัดจำนวนผู้โดยสารไม่เกิน 50% ของความจุสูงสุดแต่ละขบวน เพื่อรักษาระยะห่าง และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ผู้มาใช้บริการจะได้รับความสะดวกในการเดินทาง สามารถเชื่อมต่อกับขนส่งสาธารณะระบบอื่นๆ และสถานที่สำคัญต่างๆ ได้ เช่น รถโดยสารประจำทาง ขสมก. ที่สถานีกลางบางซื่อ, รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ที่สถานีบางซื่อ, รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ที่สถานีบางซ่อน, ทางเดินลอยฟ้า (สกายวอล์ก) กับท่าอากาศยานดอนเมือง ที่สถานีดอนเมือง และในอนาคตจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่สถานีหลักสี่, รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลที่สถานีบางเขน รวมทั้งมีสกายวอล์กเดินเชื่อมไปยังสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ด้วย