ทำเอาสังคมไทยต่างพูดถึงกันอย่างไม่หยุดหย่อนอย่างต่อเนื่อง สำหรับ “การปลดล็อกกัญชา” ที่มีผลไปเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ที่ทุกส่วนของ ต้นกัญชาไม่ถือเป็นยาเสพติด ยกเว้นนำไปสกัดเป็นสารสกัด และมีปริมาณสาร THC (Tetrahydrocannabinol) มากกว่า 0.2%
แต่อันที่จริงแล้ว เคยทราบกันบ้างหรือไม่ว่า ไม่ใช่ทุกส่วนของต้นกัญชาที่สามารถนำมาใช้งานได้ และยิ่งไปกว่านั้น “เพศ” ของกัญชาก็มีผลเช่นเดียวกัน!
เพศของกัญชา
โดยสถาบันแคนน์เฮลท์ แหล่งเรียนรู้และศูนย์รวมองค์ความรู้ในทุกมิติของกัญชาทางการแพทย์ ได้เผยข้อมูลในเรื่องนี้เอาไว้ว่า สำหรับกัญชาเป็นพืชแยกเพศต่างต้น หรือพืชที่มีเกสรตัวผู้และตัวเมียอยู่คนละต้น ง่ายๆ ก็คือมีทั้งกัญชาเพศผู้และเพศเมีย ซึ่งกัญชาเพศผู้จะมีโครโมโซม XY ส่วนกัญชาเพศเมียมีโครโมโซม XX โดยตามธรรมชาติจะมีสัดส่วนอยู่ที่ครึ่งต่อครึ่ง
“กัญชาสามารถเป็นพืชที่มี 2 เพศในต้นเดียวได้ โดยมีทั้งเกสรตัวเมียและเกสรตัวผู้ในต้นเดียวกันที่เรียกว่า “กัญชากะเทย” ซึ่งกัญชากะเทยจะผลิตดอกและจะถ่ายละอองเรณูกับดอกพวกนั้น โดยกัญชาอาจเป็นกัญชากะเทยได้เองตามธรรมชาติหรือกลายเป็นกะเทยเนื่องจากความเครียดของพืชจากปัจจัยอย่างแสงแดดที่มากไป น้ำที่มากไปหรือไม่เพียงพอ รวมไปถึงแมลงหรือโรค เป็นต้น” เพศของกัญชาไม่ใช่แค่ขึ้นอยู่กับพันธุกรรม แต่ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยสิ่งแวดล้อมรอบข้างด้วย แต่ละเพศมีความโดดเด่นที่แตกต่างกัน
วิธีแยกเพศ
การดูเพศของกัญชาอาจดูได้ยาก เนื่องจากจะไม่โชว์เพศจนกว่าจะโตพอที่เกือบพร้อมผสมพันธุ์ หรือการถ่ายละอองเรณู ราวสัปดาห์ที่ 4-6 ของการปลูก
-กัญชาตัวเมียมีเม็ดกลมเล็กๆ อยู่ระหว่างข้อต่อของก้านใบกับลำต้น โดยที่เม็ดกลมๆ นี้จะมีขนสีขาวที่เป็นเกสรตัวเมีย ดอกของกัญชาตัวเมียมีสีเหลืองอ่อน ครีมและขาว
-กัญชาตัวผู้มีเม็ดกลมๆ ระหว่างข้อต่อของก้านใบกับลำต้นเช่นกัน แต่ไม่มีขน
-กัญชาตัวผู้ผลิตละอองเรณูซึ่งเป็นตัวแปรจำเป็นในการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ โดยกัญชาตัวผู้จะมีเม็ดกลมๆ ที่มีเกสรอยู่ข้างใน
กัญชาตัวเมีย
กัญชาตัวเมียคือตัวที่ออกดอกและมีสาร THC มากที่สุด หากได้รับการถ่ายละอองเรณูจากกัญชาตัวผู้ (ผสมพันธุ์) ดอกของตัวเมียจะกลายเป็นเมล็ดซึ่งอาจเป็นผลผลิตที่คนนิยมน้อยกว่าดอก
ดังนั้นในกรณีที่ต้องการนำสารแคนนาบินอยด์ในดอกกัญชาไปใช้ในการรักษา เม็ดกลมๆ ที่มีเกสรอยู่ข้างในของกัญชาตัวผู้จะถูกตัดและแยกออกจากบริเวณที่มีกัญชาตัวเมีย เพื่อป้องกันการถ่ายละอองเรณูตามธรรมชาติและรักษาดอกของกัญชาตัวเมียไว้เพื่อการเก็บเกี่ยว ในกรณีที่ต้องการขยายพันธุ์หรือผลิตสายพันธุ์ใหม่ เม็ดกลมๆ ที่มีเกสรตัวผู้อาจถูกตัดแยกออกมาจากต้นและอาจถ่ายละอองเรณูด้วยมือกับสายพันธุ์กัญชาเพศเมียที่สนใจ
กัญชาตัวผู้
แม้ว่ากัญชาตัวผู้จะไม่มีผลผลิตที่นำไปใช้ในการรักษาได้ แต่ก็มีความสำคัญในการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและมีประโยชน์ในด้านอื่นๆ ได้แก่
สร้างสายพันธุ์ใหม่ หรือรักษาสายพันธุ์เดิมเอาไว้
การผสมพันธุ์ต้องใช้เกสรจากกัญชาตัวผู้ โดยเกสรเดินทางโดยลมเพื่อไปยังกัญชาตัวเมียตามธรรมชาติ บางคนตัดกัญชาเพศผู้ แยกเกสรตัวผู้ออกแล้วทำการผสมเกสรกับกัญชาตัวเมียที่อยากได้เพื่อสร้างสายพันธุ์ใหม่หรือ รักษาสายพันธุ์เดิมเอาไว้
ทำยาสารสกัด
กัญชาตัวผู้ไม่มีสาร THC ดังนั้นไม่สามารถทำให้เกิดฤทธิ์ทางจิตประสาทหรืออาการเคลิบเคลิ้ม มึนเมาได้ โดยกัญชาตัวผู้ ยังมีสารแคนนาบินอยด์ตัวอื่นอย่างสาร CBD หรือ CBN อยู่ด้วย ซึ่งมีคุณสมบัติในการเป็นยารักษาโดยไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางประสาทและอารมณ์
ใช้รากเพื่อทำยา
รากก็เหมือนเมล็ดที่มีคุณสมบัติการรักษาที่เหมาะสมกับร่างกายมนุษย์ โดยมีสาร THC น้อยกว่า 1% ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องอาการเคลิบเคลิ้ม มึนเมา ด้วยสารคุณสมบัติต่างๆ อย่างเพนต้าไซคลิก ไตรเทอร์พีน สารฟริเดลีน และสารอิพฟรี เดลานอล ที่มีประโยชน์ต่อตับ อีกทั้งยับยั้งการเติบโตของเนื้องอกและทำหน้าที่ต้านอาการอักเสบของตับ
ใช้ทำน้ำกัญชา
น้ำกัญชาเป็นวิธีการบริโภคกัญชาตัวผู้ที่ได้รับความนิยมในช่วงปี 2010 ซึ่งมักนำมาใช้โดยผู้ป่วยในการลดกลุ่มอาการป่วยหรือการรักษาที่พวกเขาเผชิญอยู่ ทว่าการบริโภควิธีนี้ทำให้ได้รับสารแคนนาบินอยด์ในรูปแบบที่บริสุทธิ์ที่สุด ปราศจากการเผาไหม้หรือสกัด โดยน้ำกัญชาสามารถรับประทานในชีวิตประจำวัน เพื่อควบคุมระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์
กัญชากะเทย
กัญชากะเทยมักไม่นิยมนำผลิตผลมาใช้เนื่องจากดอกที่เต็มไปด้วยเมล็ด แปลว่าสารแคนนาบินอยด์มีจำนวนไม่มาก จึงไม่นิยมนำมาใช้ในการรักษา อีกทั้งคุณภาพของตัวต้นจะไม่ดีเท่ากัญชาตัวผู้หรือกัญชาตัวเมีย ทั้งนี้กัญชากะเทยสามารถผสมพันธุ์เองได้ แปลว่ากัญชารุ่นหลังจะเป็นกัญชาที่สามารถเป็นพืช 2 เพศในต้นเดียวกันที่จะทำให้แหล่งรวมยีนด้อยลง ไม่หลากหลายเพราะการผสมพันธุ์กันเอง..
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @cannhealth.org