เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่หน้าสวนศิลาฤกษ์ ถนนพระรามที่ 3 เขตยานนาวา นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วย นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผอ.สำนักการโยธา กทม. นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง นายสุนิติ บุญยมหาศาล ผอ.เขตยานนาวา และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบโครงการก่อสร้างบ่อพักท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน งานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในถนนพระรามที่ 3
นายชัชชาติ กล่าวว่า เราได้รับแจ้งจากประชาชนจำนวนมากว่า ถนนพระรามที่ 3 มีปัญหาเรื่องถนนไม่เรียบ ส่วนหนึ่งมาจากการก่อสร้างของ กฟน. ที่อยู่ระหว่างนำสายไฟลงใต้ดิน โดยตนได้ประสาน ผู้ว่าการ กฟน. ช่วยแก้ไขปัญหา ซึ่งมีการปรับปรุงวิธีการก่อสร้างแล้ว
ด้านนายไทวุฒิ กล่าวว่า พื้นที่ถนนพระรามที่ 3 กทม. โดยสำนักการโยธา (สนย.) ได้อนุญาตให้ กฟน.ใช้พื้นที่ในการนำสายไฟฟ้าแรงสูงลงใต้ดินทั้งหมด ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งเราได้ติดตามการทำงานของผู้รับเหมาของ กฟน. รวมถึงให้คำแนะนำเรื่องการปิดผิวจราจร หลังมีการเปิดพื้นที่การทำงานซึ่งเป็นบ่อพัก โดยได้มีการปรับแบบคานของช่องที่เปิดให้เป็นแนวกันกับโครงสร้างของบ่อพัก จากนั้นรื้อผิวจราจรรอบบ่อและเทผิวจราจรใหม่รัศมีประมาณ 1 เมตร เพื่อป้องกันการทรุดตัวของผิวการจราจรบริเวณปากบ่อพัก และวันนี้ ผู้รับเหมาของ กฟน.จะหยุดงานก่อสร้างทั้งหมด เพื่อดำเนินการปรับแบบคานของบ่อพักและปรับปรุงพื้นผิวจราจรรอบบ่อพักทุกบ่อที่ขุดบนถนนพระรามที่ 3 ให้เกิดความเรียบก่อนดำเนินงานต่อ
นายวิลาศ กล่าวว่า ลงพื้นที่ร่วมกับ กทม. วันนี้ เพื่อให้ความเชื่อมั่นว่าเราได้ปรับปรุงแก้ไขแล้ว และเราจะปรับปรุงทุกบ่อตามคำแนะนำ ของ สนย. ก่อนจะเริ่มงานต่อ พร้อมกันนี้จะเปลี่ยนแผ่นปูนที่ปิดบ่อให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และปรับผิวจราจรให้เรียบ ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลา 4-5 เดือนในการแก้ไข
นายชัชชาติ กล่าวว่า การร่วมมือกันแก้ปัญหาจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ นอกจากถนนพระราม 3 ที่มีการขุดบ่อ เปิดพื้นผิวการจราจรเพื่อก่อสร้างบ่อพักในการนำสายไฟฟ้าลงดิน ยังมีพื้นที่อื่นๆ อีก เช่น ถนนสาทร ถนนวิทยุ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ รวมถึงเส้นทางอื่นๆ ซึ่งจะนำรูปแบบการปรับปรุงดังกล่าวไปใช้ด้วย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า อีกเรื่องที่ได้หารือกับ ผู้ว่าการ กฟน. คือ การจัดระเบียบสายสื่อสาร ที่พาดอยู่ด้านล่างสายไฟฟ้าของ กฟน. อย่างน้อยระหว่างที่ยังไม่ได้นำลงดิน ขอให้มีการจัดระเบียบ นำสายสื่อสาร หรือสายไฟที่ไม่ได้ใช้ออกก่อนหลังจากนี้ จะมีการหารือร่วมกันระหว่าง กทม. กฟน. กสทช. และผู้ประกอบการ เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาและจัดระเบียบร่วมกัน
นอกจากนี้ สนย. มีโครงการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างใหม่จำนวน 10,000 ดวง คาดว่าจะใช้เวลาในการติดตั้งประมาณ 3 เดือน ปัจจุบัน สนย.ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวนกว่า 500,000 ดวง
นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า สัปดาห์หน้าจะมีการหารือหน่วยงานอื่นๆ เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาต่างๆ ในกรุงเทพฯ เช่น หารือกับตำรวจ ถึงการแก้ไขปัญหาการจราจร, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องการปลูกต้นไม้ การป้องกันและลดฝุ่น PM 2.5, กรมราชทัณฑ์ เรื่องลอกท่อโดยนักโทษ, หารือกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เพิ่มความโปร่งใส
“หน้าที่ของ กทม. คือต้องประสานสิบทิศ เพราะเราไม่ได้มีอำนาจทั้งหมด แต่เชื่อถึงความตั้งใจจริงของทุกหน่วยงาน ที่อยากช่วยให้ประชาชนไม่เดือดร้อน” นายชัชชาติ กล่าว