ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องผิดที่พ่อแม่ผู้ปกครองจะพยายามประคบประหงมเลี้ยงดูบุตรหลานอย่างดีที่สุดในแบบ “มดไม่ให้ไต่ไรไม่ให้ตอม” แต่นี่ก็อาจส่งผลทำให้เด็กบางคนนั้น “ขาดประสบการณ์” ในบางเรื่อง-บางด้าน รวมถึง “ขาดโอกาสเรียนรู้” และกรณีนี้ก็อาจถึงขั้นส่งผลทำให้เกิด “ภาวะอาการ” รูปแบบหนึ่ง ที่มีชื่อเรียกว่า…

“ภาวะขาดธรรมชาติ” การขาดธรรมชาติในเด็ก

ที่ถึงแม้ไม่อันตรายร้ายแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิต…

แต่ก็อาจ “ส่งผลกระทบกับเด็กในระยะยาว” ได้!!

ทั้งนี้ กับภาวะอาการดังกล่าวนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อ…จากข้อมูลในบทความของ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ สบร. ที่ได้ให้คำอธิบาย “ภาวะขาดธรรมชาติในเด็ก” ไว้ว่า… เป็นภาวะที่ เกี่ยวข้องกับ “อารมณ์” และ “พฤติกรรม” ที่มีปัจจัยจากสาเหตุ-จากการที่เด็ก ๆ ไม่ได้ออกไปใช้เวลานอกบ้าน ไม่ได้มีโอกาสออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน หรือการที่เด็ก ๆ ห่างจากการออกจากบ้านเพื่อไปสัมผัสกับธรรมชาติติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ๆ อย่างเช่นช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 ระบาดรุนแรง จนทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองหลาย ๆ คน หลาย ๆ ครอบครัวนั้น…

กลัวการพาลูกหลานออกไปเล่นนอกบ้านกับเด็กคนอื่น

ขยายความ… “ภาวะขาดธรรมชาติในเด็ก” คืออะไร?? ในบทความของหน่วยงานดังกล่าวข้างต้นได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า… ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และเทคโนโลยีได้กลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตของผู้คนยุคโลกดิจิทัล กรณีนี้นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลทำให้ ผู้คนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างมาก ซึ่งรวมถึง “กลุ่มเด็ก” ที่ในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่มักจะใช้ชีวิตอยู่กับหน้าจอมือถือ หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ เป็นระยะเวลานานวันละหลายชั่วโมง จนอาจจะทำให้ “ไม่เหลือเวลาทำกิจกรรมนอกบ้าน” ตลอดจนทำให้ “ห่างเหินกับธรรมชาติ” จนนำไปสู่การเกิด “ภาวะขาดธรรมชาติ”

หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Nature Deficit Disorder”

ภาวะที่ “สามารถส่งผลร้ายต่อเด็กได้มากกว่าที่คิด!!”

“ภาวะอาการขาดธรรมชาติ” ในเด็ก ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Nature Deficit Disorder” หรือตัวย่อคือ “NDD” นั้น… หากเกิดขึ้นในเด็กเล็ก ๆ หรือเด็กที่มีอายุน้อย จะยิ่งเป็นปัญหา!! เพราะเป็นช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ ซึ่งเด็กจำเป็นจะต้องถูกกระตุ้นผ่านพัฒนาการ ซึ่งเด็กที่กำลังอยู่ในช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ถ้าไม่ได้ทำกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมด้านจินตนาการ เช่น การเล่นนอกบ้าน เล่นดิน เล่นทราย เก็บดอกไม้ใบหญ้า หรือเล่นตามสิ่งแวดล้อมใกล้ ๆ ตัว ก็จะ “มีผลต่อพัฒนาการ”

นอกจากส่งผลต่อ “พัฒนาการทางสติปัญญา” แล้ว การเล่นของเด็กในปัจจุบันที่เปลี่ยนไปยังส่งผลต่อ “พัฒนาการทางร่างกาย” อีกด้วย ซึ่งจากเดิมที่เด็ก ๆ เคยเล่นโดยใกล้ชิดธรรมชาติ ได้ใช้ร่างกายเคลื่อนไหว ได้ออกแรง แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาเล่นกับหน้าจอโทรศัพท์หรือจอคอมพิวเตอร์มากขึ้น เด็ก ๆ ยิ่งห่างไกลออกจากธรรมชาติมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เด็ก ๆ ทำกิจกรรมกลางแจ้งน้อยลง มีผลต่อพัฒนาการทางร่างกาย ซึ่งเด็กบางคนอาจไม่เคยได้เล่นแบบสัมผัสใกล้ชิดธรรมชาติเลย… 

ภาวะขาดธรรมชาติในเด็กที่เกิดขึ้นกับเด็กยุคปัจจุบันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ… ส่วนหนึ่งก็อาจจะเกิดจากการอบรมเลี้ยงดูลูก ๆ ของพ่อแม่ยุคนี้ที่เลี้ยงลูกแบบไข่ในหิน ไม่กล้าให้ลูกได้เล่นออกแรง เพราะกลัวจะเป็นอันตรายกับลูก ไม่ให้ลูกออกไปลองสัมผัสหรือเล่นสนุกกับธรรมชาติ เพราะต้องการให้เกิดความปลอดภัยทางกาย และ อีกสาเหตุอาจมาจากการที่พ่อแม่ไม่มีเวลา จึงหยิบยื่นสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ให้เป็นพี่เลี้ยงของลูก…” …เป็นภาพสะท้อน “สาเหตุปัญหา” ที่เกิดขึ้น…

มีทั้งสาเหตุจากวิธีคิด กับวิถีชีวิตพ่อแม่ที่เปลี่ยนไป

ยึดโยงปัจจัยทางเศรษฐกิจ และความสะดวกในชีวิต

ข้อมูลจากแหล่งดังกล่าวข้างต้นได้มีการระบุไว้ว่า… การที่พ่อแม่มีความเป็นห่วงกังวลลูก ๆ ไม่ใช่สิ่งผิด เพียงแต่ถ้าหากมากจนเกินไปก็อาจจะเป็นการ “ปิดกั้นการเรียนรู้” และยิ่งถ้าพ่อแม่พยายามกันเด็กให้ออกห่างการเล่นตามธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็อาจทำให้ “เกิดผลกระทบต่อสุขภาพกาย” ด้วย เช่น ความสามารถการใช้งานกล้ามเนื้อลดลง ส่งผลให้ขาดความยืดหยุ่น หรือมีความว่องไวน้อยลง รวมถึงเสี่ยงต่อการเกิดภาวะอ้วน จากการที่ไม่ค่อยได้ขยับร่างกาย นอกจากนี้ยังอาจ “ส่งผลต่อทักษะทางสังคม” จนขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เพราะไม่ค่อยได้ใช้ชีวิตในสังคมใหม่ ๆ และที่สำคัญ…

อาจ “เกิดปัญหาจิตใจ” จนนำสู่ “โรคซึมเศร้าในเด็ก”

ทั้งนี้ กล่าวสำหรับ “วิธีป้องกันเด็ก ๆ ไม่ให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดธรรมชาติ” นั้น ในบทความของ สบร. ก็ได้แนะนำแนวทางไว้ ซึ่งหลักใหญ่ใจความโดยสรุปก็คือ… ให้เด็ก ๆ เลี่ยง-ลดเวลาอยู่หน้าจอ ควร ปล่อยให้ลูกหลานได้เล่นเลอะเทอะบ้าง รวมถึง ชวนเด็กเปลี่ยนสิ่งรอบตัวเป็นสนามเด็กเล่น เป็นต้น …นี่เป็น “คำแนะนำเบื้องต้น” ในเรื่องนี้

เรื่อง ภาวะขาดธรรมชาติ” หรือ “NDD” ในเด็ก ๆ

นี่ก็ ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ” หากแต่ มักถูกมองข้าม”

ย้ำว่านี่ก็มิใช่เรื่องเล่น ๆ “ผลร้ายอาจรุนแรง!!”.