รายงานข่าวจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) แจ้งถึงสถิติการขนส่งทางอากาศช่วงไตรมาสที่  2 ประจำปี 64 ว่า การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 และการกลายพันธุ์ระลอกใหม่ยังมีการระบาดรุนแรงทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย จึงทำให้ผู้โดยสารชาวไทย และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ยังมีความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดฯ ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารและปริมาณเที่ยวบินปรับลดลงจากไตรมาสที่ 1/64 โดยมีปริมาณผู้โดยสารรวม 4.30 ล้านคน ลดลง 2.36 ล้านคน หรือลดลง 35.5% เป็นการลดลงของผู้โดยสารในประเทศ  2.40 ล้านคน หรือ 37.1 % เพราะการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศ ตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ถือว่ารุนแรงมากที่สุดนับตั้งแต่มีการระบาดฯ มา ขณะที่จำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น เพียง 38,290 คน หรือเพียง 19.6% เท่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไทยไม่สามารถลดวันกักตัว (State Quarantine) สำหรับผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศจาก 14 วันเหลือเพียง 7 วันได้

รายงานข่าว แจ้งต่อว่า สำหรับปริมาณเที่ยวบินมี 61,636 เที่ยวบิน ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า 16,985 เที่ยวบิน หรือ 21.6% เนื่องจากหลายพื้นที่มีมาตรการควบคุมการเข้าออกพื้นที่และจำกัดการเดินทาง ขณะที่เที่ยวบินระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น 450 เที่ยวบิน หรือเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย 2.8% ส่วนปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศ พบว่า มีปริมาณรวม 283,879 ตัน เพิ่มขึ้น 0.01% หรือเพียง 14.6 ตัน แบ่งเป็น การขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างประเทศ 278,917 ตัน เพิ่มขึ้น 0.6% ภายในประเทศ 4,962 ตัน ลดลง 25.3% จากการปรับลดปริมาณเที่ยวบินภายในประเทศลง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกที่ 3

ทั้งนี้เมื่อวิเคราะห์การแข่งขันของเส้นทางบินภายในประเทศแบบประจำ ช่วงการระบาดระลอกที่ 3 ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน เม.ย. พบว่า สายการบินสัญชาติไทยปรับลดความถี่และเส้นทางบินลง โดยพบว่า สายการบินไทยแอร์เอเชีย มีปริมาณการขนส่งผู้โดยสารมากที่สุด 1.17 ล้านคน คิดเป็น 29.4% รองลงมา ได้แก่ สายการบินไทยเวียตเจ็ท 812,132 คน คิดเป็น 20.3% และสายการบินไทยไลอ้อนแอร์ 789,638 คน คิดเป็น 19.8% ส่วนสายการบินที่มีปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศภายในประเทศมากที่สุดคือ สายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ มีปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศ 1,733 ตัน คิดเป็น 35.0% รองลงมา ได้แก่ สายการบินไทยเวียตเจ็ท 1,622 ตัน คิดเป็น 32.8% และสายการบินนกแอร์ 578 ตัน คิดเป็น 11.7%