ผลการนับคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. อย่างไม่เป็นทางการเป็นที่แน่ชัด นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. เจ้าของฉายา บุรุษที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี คะแนนขึ้นนำ ทิ้งห่างผู้สมัครคนอื่น
หากไม่มีมหกรรมพลิกล็อก นายชัชชาติ จะได้นั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.คนที่ 17 มีอำนาจเต็มสองมือตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 6 พ.ศ. 2562 มีภารกิจบริหารกรุงเทพฯ ให้มีความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ มากถึง 27 ภารกิจ ภายใต้งบประมาณมหาศาล 8 หมื่นล้านบาท
สำหรับ ภาพจำของนายชัชชาติ ที่ได้รับการกล่าวถึงเป็นวงกว้างในโซเชียลมีเดีย มาจาก 2 เรื่องก่อนเกิดเหตุรัฐประหาร วันที่ 22 พ.ค. 2557
เรื่องแรกนายชัชชาติ ชี้แจงศาลรัฐธรรมนูญ โครงการรถไฟความเร็วสูง ที่ใช้งบประมาณตามร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดย นายชัชชาติ ยืนยันโครงการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง มีความจำเป็นกระจายรายได้ไปสู่ชนบท ย่นระยะเวลาการเดินทางลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม แต่ท้ายสุด ศาลวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่ชอบทั้งกระบวนการ และเนื้อหา
เรื่องที่สอง นายชัชชาติ ถูกแชร์ภาพถ่าย ขณะเดินเท้าเปล่าถือถุงกับข้าวไปรอใส่บาตรพระตอนเช้าที่จังหวัดสุรินทร์ ในชุดเสื้อแขนกุดสีกรมท่า กางเกงขาสั้น วงแขนกล้ามเป็นมัดๆ กระทั่งเกิดกระแสนำรูปชัชชาติไปตัดต่อเอาไปล้อเป็น รมต.ที่มีพลังมหาศาลไร้เทียมทาน
กล่าวสำหรับประวัติว่าที่ ผู้ว่าฯ กทม.คนที่ 17 นายชัชชาติ เกิดวันที่ 24 พ.ค. 2509 (อายุ 55 ปี) อดีต รมว.คมนาคม ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ประวัติการศึกษา
นายชัชชาติ จบการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาเอก วิศวกรรมโยธา (โครงสร้าง) มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ ประเทศสหรัฐอเมริกา, ปริญญาโท วิศวกรรมโยธา (โครงสร้าง) สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา, ปริญญาโท บริหารธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ปริญญาตรี วิศวกรรมโยธา (เกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สำหรับประสบการณ์ทำงาน
ปี 2536-2537 วิศวกรโครงสร้าง บริษัท สคิดมอร์ โอวิ่ง แอนด์ เมอร์ริลล์ สหรัฐอเมริกา
ปี 2546-2555 อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อดีตผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ และอดีตผู้ช่วยอธิการบดี)
ปี 2555-2557 รมว.คมนาคม ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง โครงข่ายรถไฟฟ้าใน กทม. การพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-ภูเก็ต โครงการทำแนวป้องกันน้ำท่วม กทม.
ปี 2558-2561 ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บมจ.ควอลิตี้ เฮาส์ (Q House)
ปี2562-ปัจจุบัน ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Better Bangkok รวมพลังสร้างกรุงเทพฯ ที่ดีกว่าเดิม ในช่วงโควิด-19 ร่วมทำโครงการ “บ้านใกล้เรือนเคียง” ฐานข้อมูลสำหรับส่งต่อความช่วยเหลือให้กับชุมชนใน กทม.
นายชัชชาติ เคยตอบคำถามหากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติจะทำให้กรุงเทพฯ ดีขึ้นได้อย่างไร? รายละเอียดดังนี้
การที่จะทำให้กรุงเทพฯ ดีขึ้นได้นั้น จะใช้แนวคิด Design Thinking ในการหาทางแก้ปัญหา ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนดังนี้
1.เข้าใจและเข้าถึงการใช้ชีวิตของคนกรุงเทพฯ (Empathize) ลงพื้นที่ รวบรวม รับฟัง เพื่อให้เข้าใจและเข้าถึงปัญหาของคนกรุงเทพฯ อย่างแท้จริง ไม่ใช่นั่งแต่อยู่ในห้องแอร์รอรับฟังรายงาน
2.กำหนดปัญหาในแต่ละเรื่อง (Define)ถ้ากำหนดปัญหาผิด ก็ไม่มีทางที่จะมีทางออกที่ถูกได้ ดังนั้นจึงใช้ทีมงานในการวิเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ ทั้งในส่วนของพื้นที่ (ระดับเขต) และในส่วนของหน้าที่งาน (ระดับสำนัก) และกำหนดปัญหาที่แท้จริงของแต่ละเรื่องรวมทั้งกำหนดความเร่งด่วนของแต่ละปัญหา
3.ระดมความคิด หาแนวทางแก้ไข (Ideate) การแก้ไขปัญหาในกรุงเทพฯ หลาย ๆ เรื่องต้องใช้การคิดใหม่ ถ้าใช้คนเดิมคิด วิธีการเดิมคิด ก็จะได้คำตอบเดิม ๆ ที่เป็นต้นเหตุของปัญหาที่มีอยู่ ดังนั้นต้องมีการระดมผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาร่วมกันคิด เพื่อหาทางออกของปัญหาที่มีอยู่ เรามีคนเก่งเยอะ ต้องให้โอกาสคนเก่ง ๆ เหล่านี้มารวมกันเพื่อช่วยกันหาคำตอบให้กรุงเทพฯ
4.ลงมือทำแบบจำลอง (Prototype) และทำการทดสอบ (Test) ปัญหาในกรุงเทพฯ มีจำนวนมากแต่หลายๆเรื่องเป็นปัญหาที่ซ้ำ ๆ กัน คล้าย ๆ กันในทุกเขต เช่น ปัญหาทางเท้า ปัญหาการระบายน้ำ ปัญหาขยะ เราสามารถทดลองการปัญหาด้วยการลงมือและทดสอบในบางจุดก่อน ถ้าสำเร็จก็จะขยายผลไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทางทีมงานของเราได้ลงมือทำเรื่องเหล่านี้มาเป็นระยะเวลามากกว่าหนึ่งปีแล้ว มีการกำหนดปัญหา ทางแก้ เริ่มทำและทดสอบแบบจำลองในหลายโครงการแล้ว ซึ่งเมื่อถึงเวลา เราสามารถนำสิ่งที่ได้เตรียมไว้มาลงมือทำได้อย่างทันที ไม่ต้องเสียเวลาในการเตรียมตัวอีก
ความสำเร็จที่สำคัญของการดำเนินการตามแนวทางนี้คือการมีทีมงานที่ความหลากหลาย มีความเชี่ยวชาญในหลายด้าน และมีความรู้จักพื้นที่ ดังนั้นเราจึงขอรับอาสาสมัคร เพื่อจะมาร่วมกันเป็นทีมงานในการร่วมกันทำกรุงเทพฯ ของเราให้ดีขึ้น
“กรุงเทพมหานครจะดีขึ้นกว่าเดิมได้ เมื่อเราช่วยกัน ร่วมมือทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับเราทุกคนครับ” เป็นคำพูดที่นายชัชชาติ อยากสื่อสารไปถึงคนกรุงเทพฯ
สำหรับผลงานที่ผ่านมาของนายชัชชาติ มีอาทิ
(1) โครงการสำคัญที่ได้รวมเป็นทีมงานระหว่างการทำงานที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
1.เป็นทีมงานผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์วิจัยเพื่อความปลอดภัยจากอัคคีภัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2.ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3.เป็นทีมงานที่ร่วมในการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่น จามจุรีสแควร์ อาคารสยามกิตต์ อาคารสยามสแควร์วัน อาคารระเบียงจามจุรี อาคาร CU-I House
(2) โครงการสำคัญที่ได้ร่วมงานและขับเคลื่อนระหว่างที่ทำงานที่กระทรวงคมนาคม
1.โครงการสร้างอนาคตประเทศไทย 2020 เป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่รวบรวมโครงการสาคัญต่าง ๆ ของกระทรวง คมนาคม
2.การศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง จากโครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงก์เดิม การลงนาม MOU ระหว่างไทย-จีน เพื่อศึกษารถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย
3.การขับเคลื่อน เร่งรัด การก่อสร้าง โครงข่ายรถไฟฟ้าใน กทม. สายสีแดง (บางซื่อ-ดอนเมือง) สายสีเขียวส่วนต่อขยายเหนือ ใต้ สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง
4.โครงการ PPP ทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตก
5.โครงการ PPP การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงรักษา (สถานีคลองบางไผ่-สถานีเตาปูน) โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ
6.การศึกษาความเป็นไปได้โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) บางปะอิน-โคราช พัทยา-มาบตาพุด
7.พัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ Satellite Terminal
8.การพัฒนาท่าอากาศยานภูเก็ตระยะที่สอง
9.การเปิดท่าอากาศยานดอนเมืองสำหรับให้บริการสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Carriers : LCCs) และ/หรือ เส้นทางการบินในประเทศและระหว่างประเทศแบบ จุดต่อจุด (Point to Point)
10.โครงการทำแนวป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ และพื้นที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ทางฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา
11.โครงการศูนย์ความปลอดภัยขนส่งสำหรับรถโดยสารสาธารณะ
(3) ผลงานที่ทำในช่วงที่เป็น CEO บริษัท Quality Houses จำกัดมหาชน
1.เพิ่มกำไรสุทธิของบริษัทจาก 3,106 ล้านบาท ในปี 2558 มาเป็น 3,800 ล้านบาท ในปี 2562
2.เพิ่ม Net Profit Margin ของบริษัทจาก 14.26% ในปี 2558 มาเป็น 20.98% ในปี 2562
3.ลด D/E Ratio ของบริษัท จาก 1.46 ในปี 2558 มาเป็น 1.06 ในปี 2562
4.นำระบบ ISO 9001 เข้ามาใช้กับระบบโรงงาน Precast และระบบบริการหลังการขาย ทำให้เพิ่มคุณภาพในการให้บริการ
(4) ผลงานที่ทำเกี่ยวกับชุมชน
1.ร่วมกัน จัดตั้งกลุ่ม Better Bangkok เพื่อช่วยกันคิดโครงการเพื่อทำให้กรุงเทพฯ ดีขึ้นกว่าเดิม
2.ในช่วงโควิด-19 ร่วมกับทีมงานจัดทำโครงการ “บ้านใกล้เรือนเคียง” เพื่อให้ข้อมูลชุมชนต่าง ๆ ใน กทม.เพื่อให้ทราบความต้องการของแต่ละชุมชน และสามารถส่งความช่วยเหลือโดยตรงให้กับชุมชนใกล้เคียงได้.