อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่  ดำเนินโครงการสร้างกำลังคนและทักษะแห่งอนาคตในภูมิภาค เพื่อตอบโจทย์การพัฒนานวัตกรรมของประเทศและโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจท้องถิ่นในภูมิภาคด้วยองค์ความรู้ภูมิปัญญาและนวัตกรรม ซึ่งกำกับดูแลโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ผ่านแผนงานการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Entrepreneurial Ecosystem Development) ผลงานผลงานเด่น ในการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ คือ “Techmorrow: ระบบบริหารจัดการเกษตรอัตโนมัติ” ที่ได้นำเทคโนโลยี Line chat bot มาใช้ในการจัดการข้อมูลดิบที่ได้รับมาจากอุปกรณ์ IoT ที่เป็นเซ็นเซอร์เก็บข้อมูลสภาพแวดล้อมในพื้นที่การเกษตร

น.ส.ทิพวัลย์ เวชชการัณย์ ผอ.กลุ่มอุทยานวิทยาศาสตร์ ภายใต้กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ได้เข้าไปสนับสนุนผู้เข้าร่วมโครงการ ตั้งแต่ การอบรมหลักสูตรพัฒนาผู้ประกอบการ 30 ชั่วโมง โดยมีเนื้อหาตั้งแต่เริ่มต้น อาทิ  Design Thinking: เรียนรู้กระบวนการคิดเชิงออกแบบเพื่อหาเพื่อให้เข้าใจปัญหาที่แท้จริงของลูกค้าและเสนอทางแก้ที่เหมาะสม ตรงจุด เรียนการทำ Business Model Canvas: การเขียนแผนธุรกิจ เป็นการทำความเข้าใจธุรกิจให้รอบด้าน มองภาพรวมเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้ หรือมีโอกาสล้มเหลวน้อยที่สุดเมื่อดำเนินธุรกิจจริง เจ้าของธุรกิจต้องรู้ว่า กำลังส่งมอบคุณค่าอะไรให้กับลูกค้ากลุ่มไหน ผ่านช่องทางอะไร ด้วยกิจกรรมอะไร และทรัพยากรอะไร ด้วยรายได้ต้นทุนอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่เจ้าของธุรกิจจะต้องตอบได้ทั้งหมดก่อนลงมือจริง Pitching Skill: เป็นการฝึกทักษะในการสื่อสาร การนำเสนอธุรกิจของเราในเวลาอันจำกัดให้กับลูกค้า Partner ไปจนถึงนักลงทุน เพราะแผนธุรกิจจะดีแค่ไหน แต่ถ้าขาดการสื่อสารที่เข้าใจและดึงดูดผู้อื่นได้ ก็เป็นการตัดโอกาสการเติบโตของธุรกิจรวมทั้งให้ทุนสนับสนุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ 100,000 บาท พร้อมประสานงานสร้างเครือข่ายภาคการเกษตร ทั้งยังหาโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนทั้งภาครัฐและเอกชน สำหรับประโยชน์ที่ผู้เข้าร่วมได้รับหลังจากเข้าร่วมแผนงาน เช่น ได้พัฒนาทักษะด้านการเป็นผู้ประกอบการ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ ยอดขายเพิ่มสูงขึ้น ได้รับรางวัล ฯลฯ

“แต่ที่สำคัญ ทางทีมได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการจนได้ผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่สามารถนำไปทดลองใช้กับกลุ่มลูกค้าได้ ได้นำเอาความเห็นของลูกค้ามาปรับปรุงพัฒนา จากนั้นได้สร้างเครือข่าย และขอรับทุนสนับสนุนการทำธุรกิจจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เล็งเห็นถึงศักยภาพของธุรกิจและทีมงาน จนสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการเป็นธุรกิจจริงได้ ตลอดจนทำการจดทะเบียนบริษัท เทคมอโรว์ จำกัด และมีลูกค้าจริงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบัน มีลูกค้าจริงมากกว่า 20 ฟาร์ม และมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้รอบด้านมากขึ้น รวมทั้งได้รางวัลจากการประกวดเวทีต่างๆ มากมาย” น.ส.ทิพวัลย์ กล่าว

อุทยานฯ ยังได้ดำเนินงานตามแผนงานการพัฒนาความสามารถทางเทคโนโลยีของบุคลากรภาคอุตสาหกรรม (Brain power skill up) โดยพัฒนาทักษะทางเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน หลักสูตร “ทักษะการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence)” บริษัท นิ่มซี่เส็งขนส่ง 1988 จำกัด โดยแผนงานที่ได้หลังพัฒนาทักษะ “การใช้ AI เพื่อวัดขนาดของสินค้า” อุตสาหกรรมบริการ ประกอบธุรกิจด้านการขนส่ง โดยมีการต่อยอดทักษะและแผนงาน ด้วยการบูรณาการองค์ความรู้ ทักษะที่ได้รับทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ ทักษะด้านการปรับตัวของธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล ทักษะการเลือกใช้เทคโนโลยี AI อย่างเหมาะสม ทักษะการพัฒนา AI สำหรับธุรกิจ ทักษะการใช้ AI สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูล และทักษะการวางกลยุทธ์และการพัฒนาธุรกิจด้วย AI โดยเรียนรู้ที่จะเข้าใจถึงการปรับตัวของธุรกิจในยุคดิจิทัล เลือกใช้และพัฒนา AI ให้เข้ากับธุรกิจของตนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะในการใช้ AI สำหรับวิเคราะห์ข้อมูล 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการได้วางแผนประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในการพัฒนาและต่อยอดการบริการในด้านการวิเคราะห์และด้านปฏิบัติการ โดยวางแผนที่จะใช้ AI ในการวิเคราะห์ภาพถ่ายสินค้าเพื่อระบุขนาดความกว้าง ยาว และสูงของสินค้า จากการพัฒนาอุปกรณ์หรือเทคโนโลยี AI ในการจัดเก็บภาพต้นแบบสินค้าที่มีขนาดแตกต่างกันออกไปเป็นมาตรฐาน และพัฒนาอัลกอริทึมที่ใช้ในการวิเคราะห์ขนาดจากภาพถ่ายสินค้า ซึ่งคาดการณ์ว่า AI ที่ใช้นี้จะวิเคราะห์ขนาดของสินค้าได้ถูกต้องมากกว่า 90%

อีกผลงานจากแผนงานการพัฒนาความสามารถทางเทคโนโลยีของบุคลากรภาคอุตสาหกรรม คือ การพัฒนาทักษะทางเทคโนโลยีขั้นสูง หลักสูตร “ทักษะการบริหารจัดการ วิเคราะห์ปัญหา บริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าด้วยเทคโนโลยีทำแห้งแบบพ่นฝอย (Spray Dry)” ห้างหุ้นส่วนจำกัด โชคทวีทรัพย์อินเตอร์เทรด

โดยแผนงานที่ได้หลังพัฒนาทักษะ “การนำเทคโนโลยี Spray Dry มาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์”อุตสาหกรรมการเกษตรและแปรรูปอาหาร ประกอบธุรกิจด้านการผลิตและจำหน่ายผลไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ชา โดยมีการต่อยอดทักษะและแผนงานทั้ง 5 ด้าน ได้แก่ ทักษะการใช้เครื่อง Spray Dry อย่างมีประสิทธิภาพ ทักษะการวิเคราะห์ และจัดการปัญหา ทักษะการประยุกต์เทคโนโลยีสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า ทักษะการบริหารจัดการ คำนวณต้นทุน และระยะเวลาคืนทุน และทักษะการบำรุงรักษา และทำความสะอาดเครื่องจักร โดยผู้เข้าร่วมได้นำเทคโนโลยี Spray Dry มาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จากองค์ความรู้ที่ได้รับจากกิจกรรมพัฒนาทักษะ และเทคนิคการทำให้เข้มข้นด้วยเครื่องจักรที่เหมาะสม ทำให้วัตถุดิบน้ำชาก่อนนำไปทำแห้งด้วยเครื่อง Spray Dry สามารถเพิ่มค่าความเข้มข้นให้สูงขึ้น และอยู่ในระหว่างการพัฒนาคุณภาพด้านต่าง ๆ ให้ดีขึ้นไปพร้อมกัน ผลิตภัณฑ์ที่ได้จะมีความแปลกใหม่ และสามารถนำมาใช้งานได้หลากหลาย เช่น นำมาชงรูปแบบเครื่องดื่ม หรือสามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหาร วัตถุดิบในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานง่ายมีความสะดวก และประหยัดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง

“อุทยานฯ ได้เข้าไปช่วยเหลือ/สนับสนุนเป็นผู้จัดทำหลักสูตรและดำเนินการจัดการพัฒนาทักษะทางเทคโนโลยีทั้งในขั้นพื้นฐานและขั้นสูงให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพ โดยดำเนินการสำรวจและวิเคราะห์ความต้องการจากภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ ให้ตอบโจทย์ความต้องการภาคอุตสาหกรรม ขณะที่ประโยชน์ที่ผู้เข้าร่วมได้รับหลังจากเข้าร่วมแผนงาน เช่น ได้พัฒนาทักษะด้านการเป็นผู้ประกอบการ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ ยอดขายเพิ่มสูงขึ้น ได้รับรางวัล ฯลฯ ยังเกิดการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาทักษะความสามารถทางเทคโนโลยีให้กับบุคลากรภาคเอกชน และยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากการนํานวัตกรรมมาประยุกต์ใช้และการพัฒนาทักษะความสามารถทางเทคโนโลยีในองค์กรอีกด้วย” น.ส.ทิพวัลย์ กล่าว