เมื่อวันที่ 16 พ.ค. สมาชิกผู้ใช้ twitter รายหนึ่ง ได้โพสต์ทวีตขอความช่วยเหลือ โดยระบุว่า “นายไพศาล อายุประมาณ 50 ปี ถูกแก๊งคอลเช็นเตอร์หลอกให้โอนเงินไป 4 ล้านกว่าบาท โดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ปลอมเป็นตำรวจ มีการพูดจาข่มขู่สารพัด ใช้ข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ของนายไพศาล มาหลอก ทำให้หลงเชื่อสนิทใจ ได้มีการโอนเงิน 4 ล้านกว่า ที่เก็บไว้ตลอด 20 ปีไปให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์จนหมด หลังเกิดเหตุได้ทำการอายัดบัญชีไว้แล้ว แต่ก็ไม่ทันการณ์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ทำการกระจายเงินไปหลายบัญชี ล่าสุดลูกสาวนายไพศาล ได้มาโพสต์ผ่านทวิตเตอร์ในทำนองว่า ตอนนี้แม้แต่เงินค่าเทอมก็ยังไม่มีจ่ายให้กับทางมหาวิทยาลัย” หลังทราบข่าวผู้สื่อข่าวได้เดินทางมายังบ้านผู้เสียหาย เพื่อสอบถามเรื่องราว
นายไพศาล (ขอสงวนนามสกุล) เปิดเผยว่า เหตุเกิดเมื่อวันที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา เริ่มแรกได้มีชายโทรฯ มาอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ แหลมฉบัง บอกว่ามีเอกสารโดนอายัดเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ในนั้นจะมีสมุดแรงงานต่างด้าว 12 ฉบับ ชื่อบัญชีของเราเอง 3 ฉบับ จากนั้นปลายสายก็บอกว่าสะดวกจะมารับมั้ย ตนก็เลยได้ตอบกลับไปว่าไม่ว่าง จากนั้นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ตอบกลับว่าเดี๋ยวจะติดต่อทางสถานีตำรวจ สภ.แหลมฉบัง ให้ ก่อนจะมีการโอนสายไปยังเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนและมีการแอดไลน์ที่โปรไฟล์เป็นโลโก้ตำรวจ โดยปลายสายที่ต่อไปนั้นบอกว่าจะมีท่านผู้กำกับที่จะสามารถช่วยได้ จากนั้นบุคคลที่อ้างเป็นผู้กำกับส่งภาพผู้กำกับมาให้พร้อมวิดีโอคอล โดยชายดังกล่าวแต่งกายชุดตำรวจ พร้อมทั้งให้ตนยืนยันตัวตนด้วยการถ่ายรูป พร้อมทั้งห้ามปกปิดบัญชี และบัญชีมีจำนวนทรัพย์สินเท่าไหร่ พร้อมทั้งถ่ายทุกอย่างส่งในไลน์ หากไม่บอกทุกอย่างจะโดนอายัดเงินทั้งหมด ด้วยความกลัวตนจึงส่งยอดเงินทุกบัญชีไปให้ พร้อมกันนี้ทางแก๊งคอลเซ็นเตอร์ยังให้ตนเปลี่ยนวงเงินการโอนเงินจากวันละห้าแสนบาทเป็นห้าล้านบาท ตอนแรกที่มีเจ้าหน้าที่ติดต่อมาตนก็แปลกใจ แต่หลังจากมีการสนทนากันแล้ว ทางผู้ที่อ้างว่าเป็นตำรวจได้ส่งเอกสารเกี่ยวกับหน่วยงาน ปปง. พร้อมหลักฐานทะเบียนราษฎร์ของตน ซึ่งตนก็กลัว โดยปลายสายแจ้งว่าจะใช้เวลาตรวจสอบประมาณ 40 นาที ห้ามวางสาย โดยให้โอนเงินเข้ามาในบัญชีของนายบริบูรณ์ คำวิเศษ หากไม่มีความผิดจะมีการโอนเงินทั้งหมดกลับมาในบัญชีของตน ซึ่งก็หลงเชื่อโอนเงินไปกว่า 4 ล้านบาท หลังจากสนทนากันประมาณ 30 นาที ก่อนชายดังกล่าวจะวางสายไป จากนั้นตนก็รู้สึกแปลกๆ เหมือนจะถูกหลอก จึงเดินทางไปที่ธนาคาร
นายไพศาล เผยต่อว่า เมื่อไปถึงธนาคาร ตนพยายามให้ทางเจ้าหน้าที่ทำการอายัดบัญชีในการโอนเงิน แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่มีสิทธิทำอะไรได้ เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคล เพราะตนโอนผ่านแอพพลิเคชั่น ไม่ได้โอนผ่านเคาน์เตอร์ และทำไมไม่มาปรึกษาเจ้าหน้าที่ธนาคารก่อน จากนั้นเจ้าหน้าที่ธนาคารแนะนำให้ตนไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ เพื่อนำใบแจ้งความมาที่ธนาคารอีกทีเพื่อทำการอายัด โดยตนได้รีบไปแจ้งความไว้ที่ สภ.คูคต ซึ่งทางพนักงานสอบสวนจะนัดสอบปากคำอีกครั้งในวันที่ 18 พ.ค. ตอนนี้เดือดร้อนมาก เงินที่สูญเสียไป ต้องใช้ส่งลูกเรียน ส่งค่าบ้าน และเงินหมุนเวียนทางการค้า โดยเงินที่โอนไปทั้งหมด ไม่มีการแยกบัญชีธนาคาร เป็นเงินสะสมทั้งหมดที่หามาได้.