อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาการบริการโครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านการส่งเสริมพัฒนาโดยใช้ฐานความรู้ในด้านต่างๆ มาบูรณาการเพื่อนำไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มและสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์ของภาคอีสาน
ล่าสุด – จัดทำแผนงานการพัฒนาความสามารถทางเทคโนโลยีของบุคลากรภาคอุตสาหกรรม (Brain Power Skill Up) โดยได้รับทุนอุดหนุนบางส่วนผ่านโครงการสร้างกำลังคนและทักษะแห่งอนาคตในภูมิภาค เพื่อตอบโจทย์การพัฒนานวัตกรรมของประเทศ ซึ่งกำกับดูแลโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อสนับสนุนด้านการพัฒนาทักษะโดยการฝึกอบรมภาคปฏิบัติและภาคทฤษฎี หลักสูตรด้านการวางแผนกลยุทธ์การตลาดดิจิตอลและแนวคิดนวัตกรรม (Digital Marketing Plan and Innovative Thinking) โดยในกิจกรรมฝึกปฏิบัติ มีการทดลองใช้เครื่องมือจริงในการสร้างกลยุทธ์ทางการตลาด เช่น ใน Facebook YouTube  Line Official และการทำการตลาดเพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาหา (Inbound Marketing) โดยใช้ SEO (Search Engine Optimization) ซึ่งสถานประกอบการได้รับประโยชน์หลังจากที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมของแผนงาน


รศ.(พิเศษ) ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า อว.สนับสนุนอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ในการพัฒนาผู้ประกอบการ ที่สร้างนวัตกรรม โดยมีการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน โดยแผนงานการพัฒนาความสามารถทางเทคโนโลยีของบุคลากรภาคอุตสาหกรรม (Brain Power Skill Up) ถือว่าเป็นการพัฒนาทักษะในการทำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จน่าพอใจ


“มีกรณีตัวอย่างของ น.ส.ณณิชา เลิศพัฒนสุวรรณ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ทายาทธุรกิจของบริษัท อีสานคอนกรีต จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ได้เข้าร่วมกิจกรรมฝึกอบรมในหลักสูตรด้านการวางแผนกลยุทธ์การตลาดดิจิตอลและแนวคิดนวัตกรรม โดยจากการประเมินผลก่อนและหลังเรียนได้มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นกว่าร้อยละ 80 และหลังจากการเข้าร่วมโครงการทางบริษัทได้มีแผนปรับปรุงแนวทางและกลยุทธ์ทางการตลาดออนไลน์ ซึ่งมีสร้างคอนเทนต์ใหม่ในช่อง YouTube การสร้างโฆษณาให้ตรงกลุ่มเป้าหมายและวางกลยุทธ์ทางการตลาดได้ชัดเจนขึ้น เกิดการใช้ประโยชน์ในเชิงการตลาดเพื่อให้กระตุ้นยอดขายจากช่องทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น” รศ.(พิเศษ) ดร.ดวงฤทธิ์ กล่าว

นอกจากนี้ อุทยานวิทยาศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ยังดำเนินแผนงานยกระดับเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรม (Technology to Industry Convergence) ผ่านโครงการวิจัยเครื่องล้างผักผลไม้ลดสารพิษตกค้างและฆ่าเชื้อโรคด้วยเทคโนโลยีโอโซนไมโครบับเบิล ผสานกับอัลตราโซนิคควบคุมด้วยเทคโนโลยี IoT ดำเนินการโดย ดร.อนิรุธ สืบสิงห์ โดยใช้เทคโนโลยีโอโซนไมโครบับเบิลผสานกับอัลตราโซนิคควบคุมด้วยเทคโนโลยี IoT มาใช้เพื่อล้างและกำจัดสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ เทคโนโลยีแก๊สโอโซนมีคุณสมบัติในการกำจัดเชื้อโรคและสารพิษที่ไม่พึงประสงค์ได้เป็นอย่างดี ช่วยยืดอายุผักและผลไม้ได้ด้วย นอกจากนี้ยังมีการประยุกต์รังสียูวีซีมาช่วยเร่งปฏิกิริยาในการกำจัดแก๊สโอโซนที่อาจหลงเหลือจากการใช้งาน โดยเครื่องดังกล่าวสามารถใช้งานในร้านอาหาร โรงแรม และห้างสรรพสินค้า ที่มีการใช้ผักและผลไม้ในปริมาณมาก รวมทั้งใช้งานในครัวเรือนทั่วไปที่ต้องการบริโภคผักผลไม้อย่างสะอาด ปลอดภัยด้วย ทั้งนี้ สถานประกอบการ บริษัท เอซีบีดี อโกร จำกัด ตั้งอยู่ที่ 888 หมู่ 7 ตำบลโพธิ์ อ.เมืองศรีสะเกษ  จ.ศรีสะเกษ ได้ใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยดังกล่าววัตถุประสงค์เพื่อฆ่าเชื้อโรคจากวัตถุดิบในอุตสาหกรรมกัญชง และมีการทดลองใช้กับผู้ประกอบการปลูกพริก ใน อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค


“เครื่องดังกล่าวได้ดำเนินการแล้วเสร็จ มีการทดสอบใช้งานโดยผู้ใช้งานจริงและมีผลตอบรับที่ดีมาก ยิ่งไปกว่านั้นยังได้รับรางวัลชมเชยในการแข่งขันแผนธุรกิจระดับประเทศ รายการ “เส้นทางสู่นวัตวาณิชย์ (Research to Market) 2021” อีกทั้งยังได้มีการเชื่อมโยงและส่งต่อผ่านหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ อุทยานวิทยาศาสตร์ นำผลงานวิจัยไปใช้ที่เกิดจากโครงการแผนงานยกระดับเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรม ไปใช้ประโยชน์ได้จริง ยิ่งไปกว่านั้นภาคเอกชนหลายแห่งได้ให้ความสนใจเข้ามาเจรจาทางเชิงธุรกิจ เช่น ศูนย์นวัตกรรม กลุ่มธุรกิจซีพีออลล์ เป็นต้น” รศ.ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ ผอ.โครงการอุทยานวิทยาศาสตร์ ม.อุบลราชธานี กล่าว
 นี่คือผลงานรูปธรรมที่โดดเด่นของอุทยานวิทยาศาสตร์ ม.อุบลราชธานี