เมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวผ่านเพจ “กระทรวงสาธารณสุข” เรื่องการฉีดวัคซีนที่สถานีกลางบางซื่อว่า ตนต้องขออภัยประชาชน 2 เรื่องหลายคนอาจจะไม่สบายใจกับภาพความแออัดที่สถานีกลางบางซื่อในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาเพราะมีการเปิดให้มีการออนไซส์สำหรับผู้สูงอายุ  กลุ่มผู้มีน้ำหนักเกิน 100 กิโลกรัมและหญิงตั้งครรภ์ ทำให้จัดเวลาไม่ได้ แต่ก็ได้รับความแก้ไขแล้วในวันนี้ ประการที่สองกรณีที่วันนี้ 29 ก.ค. เปิดให้ลงทะเบียนผ่าน 4 ค่ายมือถือ ในช่วงเวลา 9:00 น แต่เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเรื่องจำนวนที่จะมาเติมโดยเพิ่มในกลุ่มผู้สูงอายุ และลดในกลุ่มอายุ 18 ปีขึ้นไป จึงมีการพูดคุยกันภายในก่อน จนได้ข้อสรุปและเปิดให้ลงทะเบียนในเวลา 11:00 น. ลงทะเบียนผ่าน 4 ค่ายมือถือจึง ขออภัยในความไม่สะดวกเราพยายามทำให้ดีที่สุดในการดูแลเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ให้ประชาชน

ทั้งนี้ ศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ ตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือ เก็บตกการฉีดวัคซีนในพื้นที่กทม. และปริมณฑล ทั้งกลุ่มเปราะบางผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว คนเร่ร่อน กลุ่มคนต่างชาติ  โดยเน้นที่คนเปราะบางที่สุดก่อน อย่างไรก็ตาม ทางกทม.ยังมีจุดฉีดวัคซีนอื่นๆ ด้วยกว่า 20 จุด อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนเป็น 1 ในหลาย เรื่องที่ใช้ในการควบคุมโรค ส่วนอื่นๆ ที่สำคัญคือนโยบายชัดเจน ความร่วมมือจากประชาชนในการลดการระบาดของโควิด 19  

เมื่อถามถึงกรณีการดำเนินการเอาผิดกับกลุ่มแฮกเกอร์ขายคิวฉีดวัคซีนที่สถานีกลางบาง ซึ่งมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่กรมการแพทย์มีส่วนเกี่ยวข้อง นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ตนได้รับรายงานจากผอ.ศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ ว่ามีความผิดปกติ ในกลุ่มผู้มารับบริการในช่วงท้ายๆ ของวันซึ่งเป็นกลุ่มที่ลงทะเบียนผ่านค่ายมือถือ แสดงความร้อนรน จึงมีกระบวนการตรวจสอบ และหารือผู้บริหารค่ายมือถือแห่งนั้น ทราบว่าทางค่ายมีการจ้างบริษัทย่อยมาช่วยรับลงทะเบียนเพิ่มเติม และพบว่ามีการแอบลงทะเบียนสิทธิ์ให้คนที่อยู่นอกกลุ่มเป้าหมาย เมื่อทราบข้อเท็จจริงทางศูนย์ฉีดจึงวางแผนล่อซื้อด้วยการปล่อยให้เข้ามาในศูนย์ฉีก แล้วยกเลิกระบบ นำประชาชนกลุ่มนี้ไปสอบถามข้อมูลกระบวนการได้สิทธิ การประสานงานต่างๆ จนทราบเรื่อง

นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่บอกว่ามีเจ้าหน้าที่กรมการแพทย์ร่วมมือนั้นตนไม่ทราบจริงๆ แต่เมื่อวันที่ 28 ก.ค. ที่ผ่านมา ผอ.ศูนย์ฉีดฯ ผอ.กลุ่มคุ้มครองจริยธรรมของกรมการแพทย์ และตำรวจรถไฟ ร่วมกันแจ้งความเอาผิดผู้ก่อเหตุ พร้อมกันประชาชนที่ต้องเสียเงินซื้อคิวมาเป็นพยานเพื่อเอาผิดให้ถึงที่ สุดยืนยันว่ายังไม่ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่ของกรมการแพทย์ร่วมมืออย่างไร  ถ้ามีจริงเราจะไม่ละเว้น เพราะความเจ็บป่วยสุขภาพของพี่น้องประชาชนซื้อขายไม่ได้ถ้ามีเจ้าหน้าที่กรมเกี่ยวข้องเราจะมีการตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงสอบสวนและลงโทษตามข้อเท็จจริง

ด้าน พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผอ.สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า  ในการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ของกทม. ทางคณะกรรมการโรคติดต่อกทม. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการ ที่ประกอบด้วยผู้แทนโรงพยาบาล(รพ.) ทุกภาคส่วน เช่น รพ.เครือข่ายโรงเรียนแพทย์ หรือ ยูฮอสเน็ต รพ.สังกัดกรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค มาร่วมกันพิจารณา วางแผนการให้บริการวัคซีนที่กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนให้กทม. ซึ่งเราได้ดำเนินการสอดคล้องกับนโยบายของ สธ. ตามที่ระยะนี้คือฉีดกลุ่ม 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ โดยเราได้หากลยุทธ์ในการบริการวัคซีนให้กลุ่มดังกล่าวให้ครอบคลุมตามเป้าหมายที่วางไว้ว่า สิ้นเดือน ก.ค.64 จะต้องฉีดในกลุ่มนี้ให้ได้อย่างน้อย 70%

“คณะอนุกรรมการ ให้แผนการบริการวัคซีนกับรพ.ทุกสังกัด ที่ร่วมมือกับกทม. รวม 132 แห่ง ที่เปิดให้จองฉีดกับ รพ.ไว้แล้วส่วนหนึ่ง อีกส่วนเพื่อควบคุมโรคในจุดต่างๆ โดยที่ผ่านมาเราได้ดำเนินการในหลายชุมชน นอกจากนั้น มีความร่วมมือกับหอการค้าแห่งประเทศไทย จุดบริการฉีดอีก 25 แห่ง ที่เราสนับสนุนวัคซีนลงไป และเร่งฉีดให้กลุ่มผู้สูงอายุให้มากที่สุด และสุดท้ายคือ ทีมเคลื่อนที่เร็วเชิงรุก(CCRT) ที่ลงไปดำเนินการในชุมชนจัดตั้ง เราตั้งเป้าหมายไว้ 2,016 ชุมชน โดยจะดำเนินการให้สิ้นเสร็จภายในเดือน ก.ค.นี้” พญ.ป่านฤดี กล่าว

พญ.ป่านฤดี กล่าวว่า และยังร่วมกันตั้งทีมแพทย์เคลื่อนที่เร็ว  CCRT ลงพื้นที่ชุมชนต่างๆ ให้ความรู้ ดูแลตัวเองที่บ้าน การป้องกันตัวเอง การตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท(ATK) การให้วัคซีนในกลุ่ม 608  โดยเคยฉีดได้มากถึงวันละ 8 พันราย แต่เฉลี่ยจะอยู่ที่วันละ 4 พันราย ทั้งนี้ สะสมแล้วกว่า 5.9 หมื่นราย ซึ่งเรามีแผนจนถึงสิ้นเดือนก.ค.64 ระยะถัดไปก็จะดำเนินการให้ชุมชนที่ไม่ได้มีการจัดตั้ง หรือการเก็บตกกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ติดบ้าน ติดเตียงที่ยังไม่ได้วัคซีน สามารถแจ้งที่สำนักงานเขต เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไปฉีดให้ถึงบ้าน ซึ่งได้ดำเนินการส่วนนี้ไปแล้วด้วยวัคซีนซิโนฟาร์ม ที่ได้รับพระราชทานมาจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ขณะที่ การตรวจเชิงรุก ATK ตรวจแล้วกว่า 1 หมื่นราย พบการติดเชื้อ 8-10%

“การบริการวัคซีนในกทม.มี 25 ศูนย์ฉีดกระจายทั่วกรุงเทพฯ โดยดำเนินการฉีดให้ผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนผ่านร้านสะดวกซื้อต่างๆ และนัดวันไปฉีดในศูนย์ฯ ฉะนั้น การให้บริการวัคซีนโควิด-19 เราดำเนินการภายใต้หลักเกณฑ์ นโยบายและเป้าหมายที่ สธ.กำหนด และทาง สธ. ก็สนับสนุนวัคซีนให้เราเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว” พญ.ป่านฤดี กล่าว.