เมื่อวันที่ 28 ก.ค. ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย กล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุม Pre-Summit ผู้นำด้านระบบอาหารโลกของสหประชาชาติ (The 2021 UN Food Systems Summit) เพื่อนำเสนอแนวทางในการพลิกโฉมระบบอาหารของประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน โดยชูนโยบาย ‘3S’ เน้นเรื่อง ความปลอดภัยอาหาร (Safety) ความมั่นคงทางอาหาร (Security) และ ความยั่งยืนของระบบอาหารและภาคเกษตร (Sustainability)  นอกจากนี้ ประเทศไทยได้นำโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) มาใช้ในการพัฒนาและปรับตัว โดยมีการสนับสนุนการวิจัยและลงทุนทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มีการนำ “เกษตรอัจฉริยะ” และใช้เทคโนโลยีมาพัฒนาภาคเกษตรให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น

รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า ประเทศไทยพร้อมที่จะเป็น “ครัวของโลกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Kitchen of the World)” ช่วงที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมได้จัดเวที “ชวนคิดชวนคุย” (National Dialogues) รวมทั้งมีการประชุมกับหน่วยงานสหประชาชาติ และ สำนักงาน FAO ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เพื่อรวบรวมแนวคิด ข้อเสนอแนะ และ แนวทางในการปรับเปลี่ยนพลิกโฉมระบบอาหารและภาคเกษตรของประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน เช่น 1) การสร้างความเข้มแข็ง ในการพึ่งพาตนเองด้านอาหารตั้งแต่ระดับครัวเรือน ประเทศไทยได้น้อมนำ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” และเกษตรทฤษฎีใหม่ มาเป็นแนวทางในการสร้างความเข้มแข็งให้ระบบอาหารและภาคเกษตรในระดับหมู่บ้านและตำบลทั่วประเทศ 2) การบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเน้นความสำคัญของบทบาทเกษตรกรรายย่อย สตรีและยุวเกษตรกร และ 3) การขับเคลื่อนนโยบายโลกไปสู่การปฏิบัติจริงในระดับพื้นที่ 4) การลดความเหลื่อมล้ำและทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างยุติธรรม นอกจากนี้ รมว.กษ. กล่าวทิ้งท้ายว่า เราต้องมีระบบอาหารที่รักษาสมดุลในทุกมิติ ประชาชนทุกคนต้อง “กินอิ่ม” “มีสุขภาพดี” และมีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน ดร.เฉลิมชัย ได้มอบหมาย ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายระพีภัทร์ จันทร์ศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย ดร. วนิดา กำเนิดเพ็ชร ผู้อำนวยการสำนักการเกษตรต่างประเทศ และ ดร. ธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูตฝ่ายเกษตร และผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ FAO/IFAD/WFP ณ กรุงโรม เข้าร่วมการประชุม Ministerial Roundtable เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดในการปรับเปลี่ยนระบบอาหารของโลก และการดำเนินงานตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลายหลายทางชีวภาพ และการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย (Rio Convention) 

โดย ปลัดกระทรวงเกษตรฯ กล่าวในที่ประชุมว่า ที่ผ่านมาระบบการผลิตอาหารของเราได้สร้างผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างความเสื่อมโทรมของดิน ทำลายทรัพยาการธรรมชาติ และทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้นในประเทศไทยจึงมอง “ระบบอาหาร” แบบองค์รวม ในการปรับเปลี่ยนและพลิกโฉมไปสู่ “ระบบอาหารและเกษตรที่ยั่งยืน” เราจะต้องจับมือร่วมกันเพื่อเร่งดำเนินการ ดังนี้ 1) เราต้องทำให้ทุกคนมี “อาหารที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ” ในราคาที่ไม่แพงและเข้าถึงได้ 2) “เราต้องเชื่อมโยงทุกนโยบย บูรณาการการทำงานของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อนำไปสู่การสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน” เราต้องคิดใหม่ว่าต้องทำอย่างไร จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จะผลิตอาหารหรือทำเกษตรอย่างไรไม่ให้ส่งผลกระทบ และไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ

3) ขับเคลื่อนนโยบาย ‘3S’ ไปสู่การปฏิบัติจริงใน เรื่อง ความปลอดภัยอาหาร (Safety) ความมั่นคงทางอาหาร (Security) และ ความยั่งยืนของระบบอาหารและภาคเกษตร (Sustainability) 4) การสร้างความเข้มแข็งของระบบอาหารในระดับครัวเรือนและระดับท้องถิ่น” ซึ่งประเทศไทยได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่เป็นหลักการพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ และ 5) เราจะต้องร่วมกันปรับสมดุลใหม่ของระบบอาหารและการเกษตร และรัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญ เพื่อกำหนดเป็น “วาระแห่งชาติด้านระบบอาหารและเกษตรที่ยั่งยืน และขอเรียกร้องให้ทุกประเทศและทุกคน ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างระบบอาหารที่ดีขึ้น เพื่อทำให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ต่อไป”