เมื่อวันที่ 29 เม.ย. น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 11 พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) พร้อมด้วยนายอิบรอเฮม หวันแหละ ผู้สมัคร ส.ก. หมายเลข 7 เขตประเวศ พรรค ทสท. ลงพื้นที่เขตประเวศ เพื่อตรวจสอบความคืบหน้าการซ่อมระบบบำบัดกลิ่นโรงไฟฟ้าขยะอ่อนนุช หลังพื้นที่ดังกล่าวประชาชนได้ร้องเรียน ผ่านผู้สมัคร ส.ก.พรรคท สท. ถึงผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้ากำจัดขยะของบริษัทแห่งหนึ่ง เหม็นรบกวนความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างรุนแรง มีผู้ได้รับผลกระทบหลายสิบหมู่บ้าน รัศมีของพี่น้องที่ได้รับผลกระทบไกลหลายกิโลเมตร

น.ต.ศิธา กล่าวว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้สั่งพักใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าของบริษัทดังกล่าว เนื่องจากบริษัทไม่ปฏิบัติตาม Code of Practice : CoP แต่เราไม่มั่นใจว่า การดำเนินการของโรงไฟฟ้าขยะแห่งนี้จะยุติตามคำสั่งของ กกพ.หรือไม่ โดยเฉพาะความกังวลของพี่น้องในพื้นที่ที่มองว่า โรงไฟฟ้าขยะอาจปรับเปลี่ยนให้พื้นที่แห่งนี้ เป็นที่พักขยะก่อนนำส่งไปพื้นที่อื่นๆ หรือนำไปกำจัดที่อื่นต่อไป อาจจะกลายเป็นภาระด้านงบประมาณของกรุงเทพมหานคร ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ที่สำคัญหากเปลี่ยนระบบการจัดการขยะเพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายเพื่อลดการฝังกลบนั้น ในท้ายที่สุดปัญหาขยะยังอยู่กับกรุงเทพฯและพี่น้องคนกทม.ต่อไป

น.ต.ศิธา กล่าวต่อว่าเห็นด้วยกับแนวทางของกทม.ในปัจจุบัน คือการเอาขยะมาทำเป็นพลังงาน โดยตั้งใจให้ขยะ 10,000-12,000 ตันสามารถทำไฟฟ้าได้ ซึ่งภายใน 2-3 ปี จะรับขยะทำไฟฟ้าได้ 9,000-10,000 ตัน เหมือนในญี่ปุ่น ไต้หวัน แต่การจะไปถึงจุดนั้นได้ กทม.จำเป็นต้องแยกขยะ โดยมีแนวทางคือขยะเปียกและแห้ง ถ้ามีขยะเปียกไปร่วมกันเยอะ การเผาจะไม่มีคุณภาพ อาจเกิดมลพิษทางอากาศ ดังนั้นหากตนได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะมีนโยบายในการแยกขยะและ Recycling เป็นแนวทางหลักเพื่ออนาคตของ กทม. โดยต้องตั้งใจทำระบบให้ง่ายที่สุดสำหรับคนกรุงเทพฯ การแยกขยะมีเอกชนทำการแยก ไม่เพียงแค่ Recycling แต่ต้อง Reuse และ Reduce ด้วย ซึ่งนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 11 จะมีแรงจูงใจให้กระบวนการดังกล่าวมีประสิทธิภาพโดย การให้รางวัลคนกรุงเทพฯ ที่มาช่วยกันทำตรงนี้จะได้รับ Bangkok Token ตอบแทน ซึ่งในอนาคตจะนำมาเป็นส่วนลดค่ากิน ค่าใช้จ่าย ค่าเดินทางต่างๆ ได้ เป็นวิธีทำให้คนกรุงเทพฯ ลดค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นอยู่ทุกๆ วัน

ทั้งนี้จะต้องลดปริมาณขยะและย้ายพื้นที่ เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการคัดแยกในพื้นที่ที่เหมาะสมกว่าหลังพื้นที่ดังกล่าว มีชุมชนของพี่น้องประชาชนที่ขยายตัวมากขึ้น และกังวลว่าผลกระทบจะอยู่กับพี่น้องประชาชนในระยะยาว หากไม่มีการปรับเปลี่ยน ที่สำคัญจะต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เหมาะสมกับสัดส่วนจำนวนประชากรในเขต จะช่วยลดมลพิษ สร้างอากาศบริสุทธิ์ ให้พี่น้องชาวประเวศ และกรุงเทพฯมากขึ้น ซึ่งเชื่อมั่นว่าในท้ายที่สุดปริมาณขยะจะลดลง อากาศที่มีคุณภาพหรืออาการ บริสุทธิ์จะกลับคืนมาอีกครั้ง.