นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ แสดงความพอใจที่สินค้าเกษตรมีส่วนช่วยเศรษฐกิจสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศในเดือน มิ.ย. 71,473.5 ล้านบาท โดยมีอัตราการขยายตัวสูงถึง 59.8% นับเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี และเป็นการขยายตัว 9 เดือนต่อเนื่อง โดยผลไม้ครองแชมป์การส่งออกที่อัตราเติบโตสูงสุดถึง 185.10% โดยราชาแห่งผลไม้ คือ ทุเรียนขยายตัว 172% และราชินีแห่งผลไม้ คือ มังคุดขยายตัว 488.26% เป็นการทำลายสถิติการส่งออกในอดีตที่ผ่านมา ตามมาด้วย การส่งออกยางพาราขยายตัว 111.9% มันสำปะหลังขยายตัว 81.5%
สำหรับการส่งออกข้าวที่มีตัวเลขติดลบทั้งปริมาณและมูลค่านั้น นายเฉลิมชัย ถือเป็นวาระเร่งด่วนในการแก้ปัญหาและได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรฯ เร่งปฏิรูปข้าวแบบครบวงจร เพื่อสร้างศักยภาพใหม่หวังที่จะทวงแชมป์กลับคืนมาโดยใช้ “5 ยุทธศาสตร์ปฏิรูปเกษตร 4.0” เป็นหัวใจของการพัฒนาโดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาสร้างการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่การผลิต การแปรรูปและการตลาดภายใต้ยุทธศาสตร์ตลาดนำการผลิตโดยบูรณาการความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกระทรวงพาณิชย์ สมาคมชาวนาและทุกภาคีภาคส่วน
นอกจากนี้ยังสั่งการให้คณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ปรับแผนกลยุทธ์รับมือกับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะลำไยภาคเหนือและผลไม้ภาคใต้ช่วงฤดูพีคสูงสุดในเดือน ก.ค.และ ส.ค. ซึ่งเริ่มเห็นผลกระทบจากมาตรการโควิด-19 รุนแรงมากขึ้น เช่น มังคุดในภาคใต้แม้ความต้องการของตลาดยังสูงอยู่แต่กลไกการค้าและการขนส่ง เพื่อส่งออกติดขัดอย่างมากทำให้การนำมังคุดจากสวนไปสู่ตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดเกิดปัญหาตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมาและให้ฟรุตบอร์ดออก 7 มาตรการเพิ่มเติมเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาโดยด่วน
นายอลงกรณ์ กล่าวต่อไปว่าระหว่างวันที่ 28-29 ก.ค.นี้ นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ และนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรฯ ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้ (ฟรุตบอร์ด) และคณะได้ลงพื้นที่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานีและนครศรีธรรมราช เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหามังคุดราคาตกต่ำตามข้อสั่งการของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ และนายเฉลิมชัย รมว.เกษตรและสหกรณ์
สำหรับตัวเลขการส่งออกเดือน มิ.ย. 2564 มีมูลค่า 23,699.43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 738,135.34 ล้านบาท ขยายตัวสูงถึง 43.82% ถือเป็นการเติบโตสูงสุดในรอบ 11 ปี โดยมีสินค้าสำคัญที่มีอัตราการขยายตัวสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.ผลไม้ขยายตัว 185.10% 2.อัญมณีและเครื่องประดับ ขยายตัว 90.48% 3.รถยนต์และอุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์ ขยายตัว 78.5% 4.เครื่องจักรกล ขยายตัว 73.13% และ 5.เคมีภัณฑ์ขยายตัว 59.82% ประการสำคัญ คือ ตลาดหลักและตลาดรองมีอัตราการขยายตัวทุกตลาดโดยตลาดหลักขยายตัว 41.2% ประกอบด้วยจีน ญี่ปุ่น สหรัฐ สหภาพยุโรป CLMV อาเซียน เป็นต้น ส่วนตลาดรองขยายตัว 49.5% ได้แก่ เอเชียใต้ อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ ตลาดตะวันออกกลาง แอฟริกา ลาติน ออสเตรเลีย เป็นต้น.