กรณี รองโฆษกอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 คืนสํานวนการสอบสวน คดีเด็ก อายุ 14 กราดยิงพารากอน เมื่อวันที่ 3 ต.ค.66 ที่ผ่านมา เนื่องจาก เด็กชายคนดังกล่าว ซึ่งเป็นเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ตกเป็นผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนได้มีการส่งตัวผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กไปยังสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เพื่อทําการตรวจและบําบัดรักษา ซึ่งจากการตรวจสํานวนการสอบสวนปรากฏข้อเท็จจริงว่าพนักงานสอบสวนได้ดําเนินการแจ้งข้อกล่าวหา ในความผิดฐาน ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, พยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต, พาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต, ให้มีอาวุธปืนติดตัวและยิงปืนในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร และสอบสวนคําให้การของผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็ก โดยไม่ได้รอผลการวินิจฉัยจากแพทย์ เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเด็กยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ จึงมีการส่งสำนวนกลับมาให้ทางพนักงานสอบสวน

อัยการตีกลับสำนวนด.ช.วัย14กราดยิงพารากอน ชี้ขั้นตอนการสอบสวนแจ้งข้อหาไม่ชอบ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. พ.ต.อ.จิรพัฒน์ พรหมสิทธิการ รอง ผบก.น.6 เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลวินิจฉัยจากแพทย์เพิ่มเติม ว่าเด็กพร้อมจะต่อสู้คดีได้เมื่อไหร่จึงจะเริ่มมีการสอบปากคำเพิ่มเติมอีกครั้งและสรุปสำนวนส่งอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งกรณีดังกล่าว ก่อนหน้าที่พนักงานสอบสวนมีการเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาเด็กไปแล้วนั้น ทางแพทย์เจ้าของไข้ ได้มีการอนุญาตให้เข้าไปสอบปากคำเด็กได้ ทางทีมพนักงานสอบสวนจึงมีการเข้าไปสอบปากคำ โดยไม่ได้เข้าไปแบบพลการ หรือผิดขั้นตอนแต่อย่างใด ซึ่งมีหนังสือแจ้งมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 ต.ค.66 ว่าแพทย์อนุญาตให้ไปสอบปากคำเด็กได้ และในการสอบปากคำมีทั้งอัยการ 3 วิชาชีพและทนายความ ซึ่งเด็กสามารถตอบโต้ได้ทั้งหมด

พ.ต.อ.จิรพัฒน์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามทางความเห็นแพทย์ก็จะไม่ขอก้าวล่วง แต่ตามความเห็นของพนักงานสอบสวน ทางเด็กสามารถต่อสู้คดีได้ จึงมีการสรุปสำนวนส่งไปให้อัยการ โดยตามข้อเท็จจริงผู้ที่อนุญาตในการให้ทีมพนักงานสอบสวนเข้าไปสอบปากคำเด็กก็คือ แพทย์เจ้าของไข้ แต่นอกจากแพทย์แล้วก็จะมีทีมนักจิตวิทยามาร่วมประเมิน

ส่วนกรณีหากพนักงานสอบสวนยังสอบปากคำ และไม่ส่งสำนวนให้อัยการแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธ.ค.66 อาจจะต้องปล่อยตัวเด็กออกจากสถานที่รักษาตัว นั้น พ.ต.อ.จิรพัฒน์ กล่าวว่า โดยเบื้องต้นในวันนี้ ได้ให้ทางพนักงานสอบสวนมีการร่างหนังสือถึงสถาบันกัลยาณ์ฯ ที่เด็กรักษาตัวอยู่ โดยอาศัยอำนาจตามศูนย์รักษาสุขภาพจิต เพื่อขอให้สถาบันกัลยาณ์ฯ รักษาเด็กต่อไปได้ และอาศัยอำนาจตาม ป วิอาญามาตรา 14 และ พ.ร.บ.สุขภาพจิต มาตรา 36 เนื่องจากเห็นว่าเด็กยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ทางพนักงานสอบสวนก็ขอให้ทางสถาบันกัลยาณ์ฯ รับตัวเด็กไว้จนกว่าอาการจะทุเลาหรือจนกว่าเด็กจะต่อสู้คดีได้ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายที่รองรับ

พ.ต.อ.จิรพัฒน์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของพยานหลักฐานนั้น ทางพนักงานสอบสวนมีการรวบรวมไว้ได้ทั้งหมดตั้งแต่ต้น ส่วนสาเหตุที่ล่าช้าในช่วงแรกคือต้องรอรายงานจากสถานพินิจ ซึ่งการสอบปากคำนั้นครบถ้วนแล้วจึงมีการสรุปสำนวนส่งไปให้อัยการ โดยวิธีในการสอบปากคำเด็กนั้น ทางพนักงานสอบสวนได้มีการนำวิดีโอขณะมีการสอบปากคำเด็กให้กับแพทย์ดู ซึ่งหลังจากที่แพทย์รายงานมาว่าทางเด็กไม่สามารถต่อสู้คดีได้นั้น ทางพนักงานสอบสวนจะมีการนำวิดีโอขณะการสอบปากคำให้แพทย์ดูเพื่อให้เห็นว่าเด็กมีการตอบคำถามกับทางพนักงานสอบสวนได้เป็นอย่างดี แต่หากเป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับคดี เด็กจะบอกว่า “จำไม่ได้” แต่เด็กสามารถตอบโต้ประเด็นอื่นได้ ซึ่งตรงนี้ทางแพทย์จึงนำไปประชุมร่วมกับคณะทำงาน ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อ

“ทั้งนี้เบื้องต้นในวันที่ 11 ม.ค.2567 ทางทีมแพทย์ที่รักษาตัวเด็กจะมีการประชุมเพิ่มเติมอีกครั้ง ทำให้ทางพนักงานสอบสวนต้องรอแพทย์สรุปความเห็นเพิ่มเติม จากนั้นหากแพทย์และทีมสหวิชาชีพ สรุปมาว่าเด็กสามารถต่อสู้คดีได้แล้วทางพนักงานสอบสวนจะเดินทางเข้าไปสอบปากคำเพิ่มเติมอีกครั้งต่อไป” พ.ต.อ.จิรพัฒน์ กล่าว.