ข่าวใหม่ๆ ที่น่าสนใจวันที่ 4 มี.ค.คือ การประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ซึ่งนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกฯ และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธาน มีมติพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้สอดคล้องกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยปี 2568 Amazing Thailand Grand Tourism and Sports Year 2025
ผลการประชุมคือ ยังคงห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ 5 วัน คือวันมาฆบูชา วิสาขบูชา อาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา ยกเว้นการขายในกรณีดังต่อไปนี้ 1.ภายในอาคารผู้โดยสารสนามบินที่ให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ 2.การขายในสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ 3.การขายในสถานบริการ ประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ หรือบริเวณที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว 4.ขายในโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม และ 5.การขายในสถานที่ซึ่งใช้จัดกิจกรรมพิเศษระดับชาติหรือนานาชาติ และคนจำนวนมากไปทำกิจกรรมร่วมกัน ตามรายชื่อสถานที่ที่ รมว.สาธารณสุขประกาศกำหนด โดยคำแนะนำของ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา คณะกรรมการฯ พิจารณาตั้งคณะกรรมการ ประกอบการพิจารณาในการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะให้ไปศึกษาผลกระทบหลังจากนี้ เพื่อดูความเหมาะสม
หลังจากนี้คณะกรรมการฯ จะเอามติไปสอบถามความเห็นของประชาชนผ่านเว็บไซต์ โดยใช้เวลา 15 วัน ก่อนสรุปส่งให้ รมว.สาธารณสุข ก่อนส่งต่อมายังนายกรัฐมนตรีเพื่อลงนามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะออกมาได้ทันก่อนวันที่ 11 พ.ค.ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา
นายสรเทพ โรจน์พจนารัช ประธานชมรมผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร กล่าวว่า ปัญหากับผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารจริงๆ คือ การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงเวลา 14.00-17.00 น. ที่ขอให้อนุญาตขายได้ เพราะเป็นเวลาฟันหลอ 3 ชม. เป็นอุปสรรคของผู้ประกอบการร้านอาหารหนักสุด แทนที่จะสามารถขายได้ต่อเนื่อง และยังเป็นการเปิดช่องว่างให้เจ้าหน้าที่รัฐเรียกเก็บเงินใต้โต๊ะได้ด้วย
ความคืบหน้าเกี่ยวกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่รัฐสภา “เอิร์ธ” ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ประธานวิปฝ่ายค้าน ยังคงยืนยันให้อภิปราย 5 วันสมเหตุสมผล ขอให้รัฐบาลไปย้อนดูตอนพรรคเพื่อไทยอภิปรายไม่ไว้วางใจ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ อภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ คนเดียว 30 ชม. แล้วคิดว่าครั้งนี้มันสมเหตุสมผลหรือไม่
“ยังต้องตีความข้อบังคับการประชุม ที่ให้นายกฯ หรือรัฐมนตรีเท่านั้นที่เป็นผู้ชี้แจง หมายความว่า ผู้ที่ถูกยื่นญัตติต้องชี้แจงคนเดียวใช่หรือไม่ ในความเห็นส่วนตัว เรื่องไหนที่เกี่ยวข้องกระทรวงโดยตรง ก็ไม่ได้น่าเกลียดที่จะให้รัฐมนตรีลุกขึ้นชี้แจง แต่ถ้าเรื่องไหนเกี่ยวข้องกับนายกฯ โดยตรง ก็จำเป็นต้องตอบด้วยตัวเอง” นายปกรณ์วุฒิ กล่าว
นายปกรณ์วุฒิ กล่าวถึงความขัดแย้งกับนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ประธานวิปรัฐบาล ผ่านโซเชียลมีเดีย กรณีนายวิสุทธิ์พูดว่า ไม่รู้จะยุบสภาก่อนหรือยุบพรรคฝ่ายค้านก่อน นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า “สิ่งที่ผมโกรธก็คือ ผมเห็นฝ่ายการเมืองที่อ้างตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตยมาโดยตลอด พูดถึงการยุบพรรค พูดถึงอาวุธที่ฝ่ายเผด็จการใช้ประหัตประหารนักการเมืองที่มาจากประชาชนได้ราวกับเป็นเรื่องตลก เมื่อเจอกันในวิป 3 ฝ่าย คงได้พูดคุยกัน เรื่องนี้ก็จะผ่านไป อาจจะเป็นบทเรียนให้ทั้ง 2 ฝ่าย ว่าการสื่อสารควรจะอยู่ประมาณไหน”
“บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรค พปชร. ประชุมผู้บริหารพรรค ภายหลังการประชุม นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรค พปชร. กล่าวยืนยันว่า พล.อ.ประวิตรจะร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้ โดยจะอภิปรายต่อจากผู้นำฝ่ายค้าน “หัวหน้าเท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรค ปชน. ขอให้รอฟังว่าจะหยิบยกเรื่องใดขึ้นมาเป็นพิเศษ ซึ่งมีสีสัน พปชร.ได้รับการจัดสรรเวลา 2 ชั่วโมง ในการอภิปราย มั่นใจว่านายกฯ หวั่นไหวแน่
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะทำให้ยุบสภาได้หรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า “ในระยะเวลาอันใกล้ มั่นใจว่า การอภิปรายจะมีผลต่อความมั่นคงของตัวนายกรัฐมนตรีแน่นอน”
“คึก” เทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก “เทพไท – คุยการเมือง” ว่า การอภิปรายนี้ จะเปิดหน้าทีมองครักษ์ว่าใครคือสาวก หรือองครักษ์ตัวจริง ทำหน้าที่ได้ถูกใจนายใหญ่และนายน้อยมากที่สุด จะได้บันทึกว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ มีการประท้วงมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
การประชุมวุฒิสภาวันที่ 4 มี.ค. เดือดพล่านทีเดียว เหล่า สว.ต่างรุมอัดกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่จะรับพิจารณาคดีฮั้วเลือก สว. เป็นคดีพิเศษหรือไม่ ในวันที่ 6 มี.ค.นี้ การอภิปรายไม่เพียงแต่พาดพิงดีเอสไอ ยังฟาดกันเองในกลุ่ม สว. ว่า “กลุ่มนั้นกลุ่มนี้ก็ฮั้ว” พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว. กล่าวว่า มี สว.ที่เข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่งใกล้อิมแพ็ค เมืองทองธานี พบเห็นเหตุการณ์ปิดห้องประชุมลับ คนจำนวน 400 คน และแจกจ่ายเอกสาร หมายเลขที่ใช้เลือก อยากถามว่าอธิบดีดีเอสไอรับทราบข้อมูลดังกล่าวหรือไม่ จากการดำเนินงานได้ตัวเลข คือ 21+24 คล้ายกับตัวเลข 138+2 ตัวเลขชุดนี้ อธิบดีดีเอสไอสามารถสอบสวนข้อกล่าวหาว่าเป็นกระบวนการอั้งยี่ได้หรือไม่
นายสิทธิกร รงยศ สว.อภิปราย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ถึงการทำงานกรมราชทัณฑ์ ว่า ได้รับข้อมูลมาจากผู้หวังดี มีตัวละครชื่อสมเด็จในกรมราชทัณฑ์และเรือนจำ เป็นพวกมีพรรษาในการติดคุก เป็นมือไม้ให้เจ้าหน้าที่ที่ทุจริต เช่น การร้องขอความสะดวกในการอยู่ กิน ซึ่งปกติเรือนจำจะให้ญาติฝากเงินกับผู้ต้องขัง 9,000 บาท แต่หากผ่านสมเด็จ นักโทษให้ญาติโอนเงินผ่านบัญชีม้าให้กับเจ้าหน้าที่ นมกล่องเท่ากับเงิน 10 บาท กาแฟใส่ถ้วยฟอยล์ (foil) แทนเงิน 100 บาท หากผ่านสมเด็จใช้ได้ไม่อั้น ให้เล่นพนันในเรือนจำ โดยมีนมกล่อง หรือกาแฟฟอยล์เป็นชิป
“ฤดูกาลย้ายแดนของนักโทษ หากผ่านสมเด็จจะได้รับการอำนวยความสะดวกทุกอย่าง ไม่ต้องย้าย และหากต้องการป่วยทิพย์ โอนเงินผ่านบัญชีม้า และเบิกเงินสดไปดูแลเจ้าหน้าที่ ให้อำนวยความสะดวกป่วยทิพย์ เงินหมุนเวียนสมเด็จในแต่ละแดน เฉลี่ย 10-20 ล้านบาท ขอถาม พ.ต.อ.ทวี เป็นความจริงหรือไม่ รวมถึงการใช้โทรศัพท์ ถ้าผ่านสมเด็จจะไม่มีการกีดกัน มีนักโทษเทวดา ที่เข้าเรือนจำไม่กี่ชั่วโมง จะมีซุปเปอร์สมเด็จ จัดการ จัดระบบให้ เรื่องสมเด็จเกิดในยุคนี้ ซึ่งยุคนี้ไม่มีคุณธรรม จริยธรรม ไม่เท่าเทียมกันในหมู่ผู้ต้องขัง มีอภิสิทธิ์ชน” นายสิทธิกร อภิปราย
นางอัจฉราพรรณ หอมรส สว. อภิปรายตอนหนึ่งว่า ดีเอสไอมัวแต่เน้นกลุ่ม สว.138 คน แต่ขอยกตัวอย่างโพยชุดหนึ่งที่เมืองทองธานี ถอดตัวเลขตามโพยออกมาเป็น สว. 8 คน เป็น สว.สีขาว 7 คน กับ สว.สีน้ำเงิน 1 คนที่ถูกพักปฏิบัติหน้าที่ มีโพย สว.กันทุกคน เพราะต้องกาหลายเบอร์ จึงจำเบอร์ไม่ได้ และ กกต.เองก็แนะนำให้เขียนตัวเลขเข้าไปในห้องลงคะแนนได้ แต่ดีเอสไอกลับเลือกปฏิบัติ
นายอลงกต วรกี สว. อภิปรายว่า เป็นสว.สีน้ำเงินและสีเหลือง ที่จงรักภักดี หากผู้ใดไม่ใช่ ถือเป็น สว.กลุ่ม 21 พวกปลาหมอคางดำ ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีบัญชีหลักฐานว่า กลุ่มเหล่านี้ มีทั้งหมด 11+3 ล้มล้างการปกครองฯ สนับสนุนแก้ ม.112 ถ้าอยากได้ข้อมูลมาเอาที่ตน จากการศึกษารายงาน กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่ศึกษา พ.ร.บ.กรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 ผลการศึกษาพบว่า การทำหน้าที่ดีเอสไอซ้ำซ้อนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) สร้างความแตกแยกในสังคม เพราะถูกนักการเมืองใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งทางการเมือง จึงมีข้อเสนอย้ายดีเอสไอไปสังกัดสำนักงานอัยการสูงสุด
จบที่นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ในฐานะประธานการประชุมแจ้งว่าจะส่งข้อเสนอแนะให้ ครม. และ กมธ.องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ การป้องกันและปราบปรามการทุจริต ประพฤติมิชอบ และการเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา พิจารณาต่อไป.
“ทีมข่าวการเมือง”