เมื่อวันที่ 31 ม.ค. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. แถลงข่าวเชิญชวนเกษตรกร เข้าร่วมกิจกรรมนาแปลงนี้ไม่เผา และลงแปลงนาเยี่ยมชมเกษตรกรใช้รถอัดฟางข้าว โดยมีผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักพัฒนาสังคม สำนักงานเขตหนองจอก กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว และผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่ ณ แปลงนาของนายประเสริฐ ภู่เงิน แขวงโคกแฝด เขตหนองจอก

ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า การเกิดฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ สาเหตุหลักมาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ ฝุ่นจากการจราจร อากาศปิดที่ทำให้ฝุ่นสะสม และการเผาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร โดยเฉพาะในเขตหนองจอก ที่แม้จะมีการจราจรเบาบาง แต่ยังคงมีค่าฝุ่นสูงใกล้เคียงกับพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน เนื่องจากสภาพอากาศไม่ถ่ายเท และยังคงมีการเผาในภาคการเกษตร


จากมาตรการรณรงค์ลดการเผาตอซังและฟางข้าวอย่างต่อเนื่องของ กทม. ทำให้อัตราการเผาลดลงถึง 9 เท่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน กทม. ได้แก้ปัญหาเรื่องแหล่งน้ำเพื่อช่วยเกษตรกร โดยที่ผ่านมา กทม. ใช้คลองเป็นเส้นทางระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้บางพื้นที่มีน้ำไม่เพียงพอ ต่อมาได้มีการสร้างฝายทดน้ำ 17 แห่ง ส่งผลให้ปริมาณน้ำสำหรับการเกษตรเพิ่มขึ้น เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้มากขึ้น และมีรายได้สูงขึ้น

 
และไม่อยากให้ประชาชนมองว่าเกษตรกรเป็นต้นเหตุของปัญหาฝุ่น เนื่องจากเกษตรกรมีต้นทุนที่ต่ำอยู่แล้ว จึงจำเป็นต้องมีมาตรการสนับสนุน เช่น การส่งเสริมการซื้อผลิตภัณฑ์จากแปลงนาที่ไม่เผา รวมถึงเป้าหมายของ กทม. ในการลดการเผาให้เป็นศูนย์ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นในระยะยาว


และเพื่อให้การแก้ปัญหาฝุ่นมีประสิทธิภาพมากขึ้น กทม. เตรียมเสนอรัฐบาลให้ประกาศพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นเขตควบคุมมลพิษ ซึ่งจะทำให้ผู้ว่าฯ กทม. มีอำนาจมากขึ้นในการออกมาตรการควบคุมมลพิษ เช่น การกำหนดมาตรฐานไอเสียของรถยนต์ให้เข้มงวดขึ้น ซึ่งปัจจุบัน กทม. ยังไม่มีอำนาจดำเนินการโดยตรง 


พร้อมย้ำว่าการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว และจะช่วยให้สามารถบริหารจัดการปัญหาฝุ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยแนวทางนี้เคยถูกนำมาใช้แล้วในหลายเมืองใหญ่ของไทย เช่น ภูเก็ตและพัทยา ซึ่งได้รับการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษตั้งแต่ปี 2535

อีกหนึ่งมาตรการที่ กทม. เสนอรัฐบาล คือ การย้ายหรือปรับลดการใช้ท่าเรือคลองเตย เนื่องจากท่าเรือแห่งนี้มีเรือขนาดใหญ่ใช้น้ำมันเตา ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูง อีกทั้งยังมีตู้คอนเทเนอร์กว่า 1 ล้านตู้ต่อปี และรถบรรทุกเครื่องยนต์ดีเซลจำนวนมาก ที่เข้ามาขนส่งสินค้า ทำให้เกิดมลพิษสะสมในพื้นที่ กทม. จึงเสนอให้รัฐบาลพิจารณา ลดการใช้ท่าเรือคลองเตยและหันมาใช้ระบบขนส่งทางรางแทน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณมลพิษจากการขนส่งได้อย่างมาก 


อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอนี้ไม่เกี่ยวข้องกับนโยบายกาสิโนออนไลน์ที่รัฐบาลกำลังพิจารณาอยู่ และคาดว่าจะมีความคืบหน้าภายในสัปดาห์หน้า และฝากให้รัฐบาลช่วยกำหนดแนวทางแก้ไขที่เป็นระบบมากขึ้น เพราะหากห้ามเผาเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีมาตรการรองรับ เกษตรกรจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ดังนั้น รัฐบาลต้องกำหนดแนวทางช่วยเหลือในระยะยาว เพื่อให้การลดการเผาเป็นไปได้อย่างยั่งยืน


ทั้งนี้ ผลการดำเนินการรณรงค์ไม่เผาตอซังและฟางข้าวของ กทม. พบว่า กรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ทำนา รวมจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 80,000 ไร่ เกษตรกรทำนา 4,000 ครัวเรือน กระจายอยู่ในเขตหนองจอก คลองสามวา ลาดกระบัง มีนบุรี สายไหม บางเขน สะพานสูง ประเวศ หนองแขม และทวีวัฒนา 


ซึ่งปี 2565 มีพื้นที่เผา 5,625 ไร่ (พบจุด Hot spot จำนวน 9 จุด เขตหนองจอก คลองสามวา และลาดกระบัง) จากข้อมูลนี้ จึงได้รณรงค์ส่งเสริมไม่ให้เผาอย่างต่อเนื่อง ปี 2566 มีพื้นที่เผา 1,582 ไร่ (พบจุด Hot spot จำนวน 18 จุด ที่เขตหนองจอก ลาดกระบัง และบางเขน) และรณรงค์ส่งเสริมให้เกษตรกรไม่เผาตอซังข้าว อย่างต่อเนื่อง พบว่า ปี 2567 มีพื้นที่เผา 625 ไร่ (พบจุด Hot spot จำนวน 1 จุด ที่เขตหนองจอก)


มาตรการของ กทม. ที่ทำให้พื้นที่เผาลดลง และมีเป้าหมายการเผาเป็น 0 ภายในปี 2569 คือ 1.ส่งเสริม จัดหา สนับสนุน การใช้รถอัดฟางให้แก่เกษตรกร เพื่อลดการเผาตอซัง/ฟางก้อนที่อัดได้ สามารถนำไปจำหน่ายเป็นรายได้ หรือนำฟางไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตร ฯลฯ  2.ส่งเสริมใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังและฟางข้าว โดยได้รับการสนับสนุนหัวเชื้อจุลินทรีย์จากกรมวิชาการเกษตรและกรมพัฒนาที่ดิน (ฟรี)

3.การเฝ้าระวัง (Monitor) ติดตามจุดความร้อน (Hot spot) จาก NASA Firm information for Resource Management System ในพื้นที่เกษตรร่วมกับสำนักสิ่งแวดล้อม แบบ Real time หากพบว่ามีจุด Hot spot สำนักพัฒนาสังคม จะแจ้งสำนักงานเขตติดตามระงับเหตุทันทีและรายงานผล 4. การลงพื้นที่ให้ความรู้ อบรมการทำปุ๋ยหมัก/น้ำหมักจุลินทรีย์ การใช้ประโยชน์จากฟางข้าว การเพาะเห็ดฟาง ฯลฯ อย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

สำหรับโครงการข้าวนาแปลงนี้ไม่เผานั้น จากข้อมูลของส่วนส่งเสริมเกษตรกรรม สำนักงานการส่งเสริมอาชีพ สำนักพัฒนาสังคม กทม. พบว่า ปัจจุบัน กทม. มีเกษตรกรทำนา (เฉพาะที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปรัง ปี 2568) จำนวน 3,265 ครัวเรือน พื้นที่นา 75,978.67 ไร่ อยู่ในพื้นที่เขตหนองจอก, คลองสามวา, ลาดกระบัง, สายไหม, บางเขน เป็นต้น 

ซึ่งเกษตรกรปลูกข้าวหลากหลายสายพันธุ์ เช่น ข้าว กข 79 ข้าวหอมปทุม ข้าวหอมแม่โจ้ข้าวพันธุ์ กข 41 กข 43 กข 49 กข 83 กข 85 ข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็นต้น โดยปกติเกษตรกรส่วนใหญ่เมื่อเกี่ยวข้าวแล้ว (โดยรถเกี่ยวของเอกชน) นิยมส่งขายทั้งหมดให้โรงสีเอกชนขนาดใหญ่ เกษตรกรจะได้รับเงินก้อนคราวเดียว (แต่ต้องไปซื้อข้าวตามท้องตลาดเพื่อบริโภคในครัวเรือน) 

ปี 2567 กรุงเทพมหานครมีนโยบายจัดทำมาตรฐานสินค้าการเกษตร (Bangkok G) เป็นของกรุงเทพมหานครเอง เป็นครั้งแรก เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร (Value added) ให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้นและผู้บริโภคมีความมั่นใจและเป็นที่ยอมรับของตลาด โดยปี 2567 มีสินค้าเกษตรได้รับใบรับรองมาตรฐานฯ แล้ว จำนวน 164 รายการ (พืช ผัก ผลไม้ ดอกไม้กินได้) ปี 2568 และจะมีมาตรฐานอีกประมาณกว่า 128 รายการ ซึ่งอยู่ในระหว่างการลงพื้นที่ตรวจแปลงฯ ตามข้อกำหนดมาตรฐาน Bangkok G ที่ได้กำหนดไว้และจะอนุมัติให้ใบรับรองโดยเร็วต่อไป 

ปัจจุบัน มีเกษตรกรเขตหนองจอก จำนวน 30 ราย ได้ยื่นเอกสารขอรับมาตรฐานสินค้าเกษตรกรุงเทพมหานคร (Bangkok G) แล้ว ซึ่งมีแผนจะเก็บเกี่ยว ในช่วงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ถึงเมษายน 2568 โดยสำนักพัฒนาสังคมได้จัดทำแผนการลงตรวจแปลงฯ ประสานคณะกรรมการลงพื้นที่ตรวจแปลงฯ ในช่วงวันเก็บเกี่ยวผลผลิตดังกล่าว และกรุงเทพมหานคร จะออกใบรับรอง “มาตรฐานสินค้าเกษตรกรุงเทพมหานคร (Bangkok G)” และ “นาแปลงนี้ไม่เผา” ต่อไป คาดว่าจะได้ผลผลิต 180 ตัน (180,000 กิโลกรัม) เพื่อบรรจุถุงจำหน่ายต่อไป ทั้งนี้ มาตรฐาน Bangkok G ข้าว ได้มีการเพิ่มข้อกำหนด ไว้ในการตรวจแปลงข้าว ที่ระบุในเรื่องของการเตรียมแปลง ต้องไม่มีการเผาตอซังข้าว และเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูกต้องมาจากแหล่งที่เชื่อถือได้.