เมื่อพูดถึง “อาการปวดหัว” หลายคนอาจนึกถึงความเครียด ภาวะไมเกรน หรือการพักผ่อนไม่เพียงพอ แต่รู้หรือไม่ว่า อาการปวดหัวบางประเภทอาจมีสาเหตุมาจากโรคกระดูกสันหลัง โดยเฉพาะบริเวณต้นคอ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนมองข้าม
ในวันนี้ นพ.พร นริศชาติ แพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเอส สไปน์ ได้เผยผ่าน Healthy Clean ว่า อาการปวดหัวไม่ใช่เรื่องเล็กเสมอไป โดยเฉพาะเมื่อมีสัญญาณร่วมกับอาการปวดคอหรือกล้ามเนื้อตึงเกร็งบ่อยๆ อย่ามองข้าม โดยอาการปวดคอส่วนใหญ่สามารถเกิดจากสาเหตุหลัก 3 ประการ ได้แก่ กล้ามเนื้อคอ ซึ่งเกิดจากการเกร็งของกล้ามเนื้อ, ข้อกระดูก ซึ่งเกิดจากการเสื่อมสภาพของกระดูกคอ และสุดท้าย หมอนรองกระดูก ที่อาจมีการทับเส้นประสาททำให้เกิดอาการปวด การวินิจฉัยจึงต้องพิจารณาจาก ลักษณะของอาการ และ ระยะเวลา ที่ผู้ป่วยมีอาการ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง

อาการทั่วไป
ในกรณีปวดคอทั่วไป อาการมักจะหายไปเองภายใน 2-3 วัน หรือ 1 สัปดาห์ แต่หากอาการปวดคอยังไม่ดีขึ้นในช่วงนี้ ก็อาจต้องเริ่มระวังและปรึกษาแพทย์ เพราะถ้าอาการปวดคอเกิน 1 เดือน ก็ควรตรวจเช็กว่ามีสาเหตุจากการกดทับเส้นประสาทหรือไม่ ถ้ามีอาการ ปวดคอร่วมกับการชาแขน, อาการแขนอ่อนแรง หรือ ปวดร้าวลงแขนและขา นี่เป็น ธงแดง ที่บ่งบอกถึงการกดทับเส้นประสาทที่กระดูกคอ และอาการเหล่านี้ควรได้รับการตรวจวินิจฉัยทันที

ขณะที่ หลายคนมักสงสัยว่าอาการปวดคออาจเกิดจาก ไมเกรน ซึ่งมีอาการคล้ายคลึงกัน เช่น ปวดหัว และ เวียนหัว แต่จริง ๆ แล้ว ไมเกรนและอาการปวดคอเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกัน การแยกแยะอาการต้องพิจารณาหลายปัจจัย สำหรับไมเกรนจะเป็นอาการปวดหัวที่มักเกิดจากการ ขยายตัวของหลอดเลือด โดยมีอาการ ปวดตุ๊บ ๆ ตามจังหวะการเต้นของหัวใจ และมักมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ร่วมด้วย ส่วนอาการปวดคอที่เกิดจาก กล้ามเนื้อคอ หรือ หมอนรองกระดูก จะมีลักษณะ ปวดตึง ๆ แน่น ๆ และมักจะเป็น สองข้าง เกิดจากการ เกร็งของกล้ามเนื้อ หรือการ กดทับเส้นประสาท ที่กระดูกคอ
หากมี อาการปวดหัว ร่วมกับ เวียนหัว ที่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นไมเกรนหรือปวดคอจากกระดูกสันหลัง การทำ MRI จะช่วยในการแยกแยะสาเหตุได้ เมื่อมีอาการปวดคอที่ ร้าวลงแขนหรือขา, ชาแขน, หรือ อ่อนแรง, อาการเหล่านี้อาจบ่งบอกถึงปัญหาของ กระดูกสันหลัง ที่มี เส้นประสาท ผ่านอยู่ ถ้ามีการ กดทับ หรือ บาดเจ็บ ในส่วนนี้จะส่งผลให้เกิดอาการเหล่านี้ได้ อาการจากกระดูกคอมักเกิดจากการ เสื่อมสภาพของกระดูก หรือบางกรณีอาจเกิดจาก อุบัติเหตุ เช่น กระดูกคอเคลื่อน ซึ่งทำให้เกิด การกดทับของเส้นประสาท และทำให้เกิดอาการปวดคอร้าวไปที่แขนและขา

แนวทางการดูแลและรักษาเบื้องต้น
- ปรับพฤติกรรม เช่น จัดท่านั่งให้ถูกหลัก หลีกเลี่ยงการก้มคอนานๆ
- ทำกายภาพบำบัดหรือออกกำลังกายเฉพาะส่วนเพื่อคลายกล้ามเนื้อ
- รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์เฉพาะทางกระดูกสันหลัง เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง…
……………………………………………
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”
อ่านบทความทั้งหมดที่นี่…คลิก…