เมื่อวันที่ 17 ส.ค. มีรายงานข่าวแจ้งว่า ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ปีที่ 1 ครั้งที่ 8 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ในวาระที่ 2 เกี่ยวกับการรับทราบรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ครั้งที่ 18 (เดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2564) ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้อภิปรายแผนการปฏิรูปทั้ง 12 ด้าน

โดย นายวิรัช พิมพะนิตย์ สส.กาฬสินธุ์ เขต 1 พรรคเพื่อไทย ได้อภิปรายรายงานการปฏิรูปประเทศ 2 ด้าน คือ ด้านพลังงานและด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สะท้อนปัญหาการบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาลและกลไกของรัฐ โดยชี้ให้เห็นว่าแผนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ประชาชนและรัฐถูกพ่อค้าคนกลางเอารัดเอาเปรียบมาตลอด ทำให้ราคาด้านพลังงานสูงผิดปกติ ขณะที่ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ป่าไม้โดยเฉพาะไม้มีค่า เช่น พะยูงถูกลักลอบตัดเป็นจำนวนมาก จนเกิดปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และการก่อปัญหากลไกของรัฐและระบบราชการประชาชนขาดความเชื่อมั่นศรัทธา ความเหลื่อมล้ำทางด้านยุติธรรม

สส.วิรัช กล่าวว่า ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า โดยเฉพาะไม้พะยูงในระยะหลัง เกิดขึ้นมาในพื้นที่ภาคอีสาน โดยเฉพาะ จ.กาฬสินธุ์ ที่ถูกพุ่งเป้าไปที่ “ไม้พะยูง” ที่ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ดูแลของทางราชการ ไม่ว่าจะเป็น วัด โรงเรียน หรือในพื้นที่กรมธนารักษ์ ที่ยังเหลือไม้พะยูงจำนวนมาก มีการจัดประมูลไม้พะยูงไปขายทอดตลาด ซึ่งปัญหาการตัดไม้ขณะนี้ ก็ตกเป็นข่าวหลายวันในพื้นที่ ก็ยังไม่มีข้อสรุป จึงเชื่อว่ากรณีนี้ อาจจะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่ จึงต้องการความกระจ่างให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะป่าไม้ถือเป็นหัวใจหลักของความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติ แต่ก็ต้องขอชื่นชมการปลดล็อกให้มีการตัดไม้พะยูงในที่ดินของประชาชนได้ ในปี 2562 แต่ขณะนี้เมื่อมีการลับลอบตัดไม้ในพื้นที่หลวง จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้ขึ้น เพราะเชื่อว่าเกิดจากปัญหาช่องว่างทางกฎหมาย

รายงานแจ้งว่า คดีไม้พะยูง 7 ท่อน มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท ที่หายไปจากสำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ อย่างไร้ร่องรอย เมื่อช่วงคืนวันที่ 5 ส.ค. 66 ที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสว่ามีบุคคลของรัฐไม่น้อยกว่า 6 คน เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ให้การปฏิเสธกับพนักงานสอบสวน ถึงวันนี้ผ่านมา 12 วัน ยังไม่มีความคืบหน้าของคดี ขณะที่ชาวบ้านเกิดความสงสัยในความล่าช้า และสังคมยังจับตามองการทำงานของฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ว่าจะสามารถติดตามขบวนการมอดไม้มาดำเนินคดีได้หรือไม่

ทั้งนี้ เรื่องไม้พะยูงหายดังกล่าว เริ่มแดงและเป็นข่าวดังมาตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. 66 ที่ผ่านมา หลังจากนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ ได้รับแจ้งจากพลเมืองดี ขณะจัดรายการผู้ว่าฯ พบประชาชนทางสถานีวิทยุฯ ต่อมาวันที่ 9 ส.ค. 66 ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า จ.กาฬสินธุ์ (คปป.จังหวัด) ที่ห้องประชุมฟ้าแดดสงยาง ศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ โดยมีนายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานประชุม มีคณะอนุกรรมการฯ ประกอบด้วยหน่วยงาน บุคลากรด้านปกครอง ป่าไม้และที่ดิน เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง บรรยากาศเป็นไปด้วยความเข้มข้น เนื่องจากประเด็นส่วนใหญ่เป็นปัญหาการบุกรุก ทำลาย และลักลอบตัดไม้ในพื้นที่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้และกรมธนารักษ์

ในการประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าฯ ครั้งนั้น นายไสว สะอาด ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในกรณีการตัดไม้พะยูงและไม้ชนิดอื่น ในพื้นที่ส่วนงานรับผิดชอบของธนารักษ์กาฬสินธุ์ โดยเฉพาะโรงเรียน ทั้งการขออนุญาตก่อนตัดและถูกลักลอบตัดนั้น เกิดขึ้นบ่อยครั้ง สำหรับเหตุไม้พะยูงถูกลักลอบตัดที่สถานีเพาะชำกล้าไม้ฯ ต.อิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เบื้องต้นตนทราบจากการรายงานทางวาจา และเป็นเรื่องที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง จะได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในส่วนความเคลื่อนไหวของฝ่ายสืบสวนสอบสวนและตรวจสอบข้อเท็จจริง ในการติดตามขบวนการมอดไม้มาดำเนินคดี ทั้งฝ่ายตำรวจและฝ่ายปกครอง มีรายงานว่าตำรวจภูธร ภาค 4 ยังได้จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ติดตามอย่างใกล้ชิด ขณะที่มีการรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนที่จะมีการตัดทอนท่อนไม้พะยูงจากที่เกิดเหตุ มาไว้ที่หน้าเสาธงของสำนักงานเทศบาลตำบลอิตื้อ เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 66 ที่ผ่านมานั้น มีการร่างบันทึกโดยผู้นำชุมชนที่อยู่ในเหตุการณ์ ในลักษณะเหมือนพนักงานสอบสวนร่างบันทึกขณะออกตรวจสถานที่เกิดเหตุทั่วๆ ไป ซึ่งมีใจความสำคัญว่ามีมติให้ขนย้ายไม้พะยูงมาเก็บไว้ในสถานที่ดังกล่าว โดยมีหลักฐานยืนยันตามบันทึกแจ้งความไว้ที่ สภ.โนนสูง ส่วนความคืบหน้าหรือรายละเอียดอื่นๆ อยู่ในสำนวนของเจ้าหน้าที่ ซึ่งระบุว่า ตีวงแคบเข้ามาทุกขณะ.