นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติเห็นชอบปรับกรอบวงเงินลงทุน และจัดหาแหล่งเงินเพิ่มเติม โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จากเดิม 96,868.33 ล้านบาท เป็น 104,449.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,581.12 ล้านบาท เพื่อนำมาชำระค่าสินจ้างสัญญาที่ 1 ตามคำสั่งศาลปกครองที่ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน หรือวันที่ 9 ก.ค.2568 วงเงิน 7,140.99 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าคำสั่งเปลี่ยนแปลงงาน (VO) 5,015.30 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลัง จะจัดหาแหล่งเงินกู้ให้, ค่าดอกเบี้ย 2,043.72 ล้านบาท ใช้เงินของ รฟท. และ ค่า Vat 81.98 ล้านบาท

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 440.13 ล้านบาท จะนำมาชำระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมของสัญญาที่ 2 และ 3 ต่อไป ซึ่งในส่วนนี้ ครม. ให้รอกระบวนการพิจารณาทางด้านกฎหมายให้เสร็จสิ้นก่อน สำหรับในส่วนของสัญญาที่ 1 มั่นใจว่าจะจัดหาเงินนำมาชำระได้ทันตามคำสั่งศาลฯ โดยหลังจากนี้ รฟท. ต้องเร่งดำเนินการให้ทัน มิฉะนั้นต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยเพิ่มอีกวันละ 6 ล้านบาท อย่างไรก็ตามได้เตรียมสั่งการให้กระทรวงคมนาคมตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เหตุใดต้องมี VO และทำไมถึงปล่อยให้ดอกเบี้ยเดินได้ทุกวันไปเรื่อยๆ ไม่เร่งดำเนินการให้จบ รวมทั้งให้หาผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วย เพราะสร้างความเสียหายให้กับงบประมาณของประเทศ พร้อมกันนี้ได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานควรทำงานทุกอย่างให้รอบคอบ และอย่าให้มีเหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2568 ศาลปกครองพิพากษาบังคับให้ รฟท.ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยให้ชำระเงินแก่กิจการร่วมค้า เอส ยู ที่มี บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) กรณีไม่ปฏิบัติตามสัญญา โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด ทั้งนี้ที่ผ่านมาโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง มีการปรับกรอบวงเงินมาแล้วหลายครั้ง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงงานต่างๆ ในโครงการฯ โดยมีงาน VO รวมประมาณ 194 รายการ.