อันดับแรกต้องหาที่พักที่สามารถไปไหนต่อไหนได้อย่างคล่องตัว และหากมาจากแดนไกลอย่างทวีปอเมริกา แน่นอนว่าจะต้องมีกระเป๋าลากใบใหญ่ แถมด้วยกระเป๋าถือ และอาจจะมีกระเป๋าลากใบเล็กแบบลากขึ้นเครื่องติดมาด้วยอีกหนึ่ง ที่พักย่าน Taipei Main Station คือคำตอบ เพราะเช้าวันถัดมาเมื่อจำต้องเช็คเอาท์ออกจากที่พักตามเวลาก่อนเที่ยง แต่เวลาเที่ยวยังเหลือ ๆ กระเป๋าใบใหญ่ที่ดูจะเป็นภาระสามารถเช็คอินและโหลดไปล่วงหน้าก่อนได้จากสถานีนี้ ส่วนกระเป๋าลากใบเล็กและของพะรุงพะรังหาล็อกเกอร์ฝากของ ตู้ขนาดเล็กเริ่มต้นที่ 3 ชั่วโมง 20 ดอลลาร์ไต้หวัน ส่วนเกินคิดชั่วโมงละ 10 ดอลลาร์ไต้หวัน

จัดการเรื่องที่พักเรียบร้อยก็ได้เวลาออกสำรวจไทเปยามค่ำคืน นอกจากรถไฟใต้ดินที่สามารถพาไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ได้ทั่วเมืองแล้ว อีกทางเลือกที่ถือว่าสะดวกสบาย ทั้งยังได้สัมผัสวิถีการเดินทางแบบคนท้องถิ่นด้วยก็คือ “YouBike” จักรยานที่จอดเรียงให้เช่าขี่ไปจ่ายตลาด ขี่ไปบ้านเพื่อน ปั่นไปซื้อกาแฟจากร้านดังที่อยู่ห่างออกไปแบบเดินเหนื่อย บอกเลยว่ามีจุดให้บริการมากมายแบบแทบจะบล็อกชนบล็อก ขี่จากจุดนึงแล้วไปจอดคืนอีกจุดแบบสบาย ๆ หรือจะถ้าไปถึงแล้วที่เต็มแค่เปิดแอปพลิเคชั่น YouBike ดูก็จะรู้ว่าที่จอดใกล้ ๆ จุดไหนยังมีที่ว่าง โดยไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนเป็นสมาชิกก็สามารถส่องหาได้ ส่วนการจ่ายเงินเช่าสามารถช้บัตร Easy Card แตะจ่ายได้ทันที

ได้พาหนะแล้วก็มุ่งหน้าสู่จุดหมาย “ตลาดกลางคืนเหราเหอ” (Raohe Street Tourist Night Market) ตลาดที่วัยรุ่นไต้หวันชอบไป ที่นี่เป็นหนึ่งในตลาดที่เก่าแก่ที่สุดของไทเป ก่อตั้งขึ้นในปี 1987 ตั้งบนถนนเหราเหอตามชื่อตลาด แม้จะเป็นตรอกเล็ก ๆ ที่ยาวแค่ประมาณ 600 เมตร แต่เต็มไปด้วยร้านค้าและรถเข็นแผงลอย ทันทีที่มาถึงวัยรุ่นไต้หวันก็พาพุ่งไปที่ร้านโปรด ปังอบสอดใส้เนยแผ่นหนา ขนมปังก้อนโตอบใหม่ ๆ ถูกผ่ากลางเพื่อสอดไส้ด้วยแผ่นเนยหนา กรอบนอกนุ่มใน หอมเนย มีรสเค็มนิด ๆ

ถัดไปไม่ไกลปากทางเข้าตลาดด้านหน้า ใคร ๆ ก็ยอมยืนรอต่อแถวเพื่อ “หูเจียวปิง” แห่งร้าน “ฝูโจ่วซาลาเปาอบโอ่ง” หนึ่งในเมนูขึ้นชื่อของที่นี่ ซาลาเปาที่ไม่ได้นึ่งแต่ห่อไส้หมูสับผัดกับผักและพริกไทยดำ แล้วเอามาแปะในเตาอบหน้าตาเหมือนโอ่งบ้านเรา คล้าย ๆ กับวิธีอบโรตีโอ่งของแม่สอด ซาลาเปาที่ได้จึงมีความกรอบด้านนอก จัดจ้านด้านในจากไส้ที่ใส่ไว้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้คนจะยอมต่อแถวรอ ทั้งยังมีมิชลินไกด์การันตีความเด็ดด้วยอีกอย่าง

เดินต่อเข้าไปในตลาดถ้าได้กลิ่นไม่คุ้นเคยแปลก ๆ โปรดรู้ไว้เลยว่าได้มาถึงร้าน “เต้าหู้เหม็น” อาหารประจำถิ่นของไต้หวัน เต้าหู้ที่ดูหน้าตาคุ้นเคยแต่กลิ่นแปลกออกไปเพราะผ่านการหมักอีกขั้นตอน จึงทำให้มีกลิ่นเฉพาะที่บางคนอาจรู้สึกเหม็น แต่บางคนกลับชื่นชอบเพราะรสชาติที่เอกลักษณ์ แอบส่องมองเห็นคนไต้หวันสั่งเกือบทุกโต๊ะ พร้อมด้วยซี่โครงหมูหรือแกะตุ๋นยาจีน และอาจจะมีหอยนางรมทอดมาด้วยอีกจาน ตลาดกลางคืนเหราเหอยังมีอาหารท้องถิ่นอีกหลายให้ลิ้มลอง แนะนำว่าควรชวนเพื่อนไปด้วยกันหลาย ๆ คน จะได้ลองอาหารหลาย ๆ อย่างทั้งคาวหวาน จะนั่งทานที่ร้านในตรอกหรือจะหิ้วมานั่งกินบรรยากาศริมแม่น้ำจีหลงซึ่งอยู่ใกล้ ๆ ไปด้วยก็ได้อีกอรรถรส ตลาดกลางคนเหราเหอเริ่มบรรเลงตะหลิวกันตั้งแต่ห้าโมงเย็นยาวไปจนถึงเที่ยงคืน

ก่อนจะเข้าไปเดินช้อปเดินชิม อย่าลืมแวะ “วัดซงซาน ฉือโย่ว” (Songshan Ciyou Temple) ที่อยู่หน้าตลาด วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของย่านซงซาน เล่ากันว่าครั้งหนึ่ง พระภิกษุรูปหนึ่งเดินทางมาย่านนี้ โดยถือรูปปิดทองของเจ้าแม่หมาจู่ (Mazu) เทพธิดาแห่งท้องทะเล ขณะออกบิณฑบาตได้นำพาผู้คนที่มีจิตศรัทธาในเจ้าแม่มารวมกันที่นี่ ก่อนจะเริ่มก่อสร้างวิหารขึ้น ในปี ค.ศ. 1753

วัดนี้มีจุดเด่นตรงหลังคาวิหารที่ได้รับการตกแต่งอย่างงดาม มีทั้งรูปปั้นมนุษย์และมังกรบินคู่หันหน้าเข้าหาเทพ 3 องค์ ซึ่งเป็นตัวแทนของความมั่งคั่ง ความสุข และอายุยืนยาว เชื่อกันว่ามังกรมีพลังในการป้องกันไฟ ผู้คนที่มาสักการะต่างขอพรจากเจ้าแม่เพราะเชื่อว่าเจ้าแม่หมาจู่จะบันดาลพรให้สมปราถนา มาถึงตลาดตอนเย็น ๆ ก็ไม่ต้องกังวลว่าวัดจะปิดซะก่อน เพราะวัดในไต้หวันเปิดตั้งแต่เช้ามืด ตี 5 ครึ่ง แล้วเปิดให้เข้าสักการะขอพรกันยาว ๆ ถึง 4 ทุ่มครึ่ง แต่แอบกระซิบว่า หนุ่มน้อยไต้หวันบอกว่า จะไม่มาขอพรช่วงค่ำเพราะเชื่อว่าเทพเจ้าทั้งหลายไปพักผ่อนหมดแล้ว หากอยากขอพรให้ได้ผลจริง ๆ มาตอนกลางวันจะดีกว่า

สำหรับคนที่อยากขอพรเรื่องหน้าที่การงาน “วัดสิงเทียน” (Xingtian Temple) คือคำตอบ เพราะขึ้นชื่อว่าคนที่มาขอพรแล้วมักจะสมหวัง แต่ก่อนที่จะสมหวังดั่งใจนึก จะต้องถามเทพเจ้ากวนอู ซึ่งเป็นองค์เทพหลักของวัดนี้ให้ดีก่อน ที่นี่มี “เซ้งปวย” ไม้เสี่ยงทายสีแดงทรงรีที่จะต้องใช้เป็นคู่เตรียมไว้ให้มากมาย แบบไม่ต้องกลัวว่าจะไม่มีไม้ให้เสี่ยงทายถาม เป้าหมายการเสี่ยงทายว่าจะได้สมหวังก็คือ การโยนเซ้งปวยแล้วออกมาลักษณะคว่ำอันหงายอัน จึงจะแปลว่าสิ่งที่อธิษฐานสัมฤทธิ์ผลไปตามปรารถนา แต่หากหงายทั้งคู่หมายความว่าคำถามยังคลุมเครือให้โอกาสถามใหม่อีกครั้ง ส่วนคนที่ได้คว่ำทั้งคู่บอกเลยว่าต้องปิดจ๊อบไม่ต้องถามต่อ เพราะจะไม่เป็นไปตามปรารถนา ดังนั้นหากเข้ามาที่วัดแล้วเจออาม่า อากง โยนเซ้งปวยไม่เลิก คาดการณ์ว่าน่าจะได้แบบหงายทั้งคู่เลยต้องถามแล้วถามอีก

วัดสิงเทียน สร้างขึ้นในปี 1967 เพื่ออุทิศให้กับเทพเจ้ากวนอู ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์ และเทพเจ้าแห่งสงคราม เป็นวัดแห่งเดียวในไทเปที่ไม่มีการเผากระดาษเงินกระดาษทอง การแสดงงิ้ว และงดรับบริจาคทุกกรณี เพราะความโด่งดังในเรื่องการขอพรให้สมหวัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหน้าที่การงาน การเงิน ความรัก หรือโชคลาภ ทำให้ชาวไต้หวันนิยมเดินทางมาสักการะขอพร ซึ่งวันนี้ยังมีนักท่องเที่ยวมุ่งหน้ามาขอพรด้วย

จับจักรยานปั่นต่อไปที่ “ถนนตี๋ฮว่า” (Dihua Street) ที่ว่าเป็นแหล่งช้อปปิ้งวันตรุษจีน อีกหนึ่งย่านของไทเปที่มีคาเฟ่เก๋ ๆ ซ่อนตัวอยู่ แม้จะไม่ใช่ช่วงตรุษจีนแต่ที่นี่ก็ยังมีสินค้ามากมายจำหน่าย โดยเฉพาะจำพวกอาหารแห้งอย่างหอยเชลล์อบแห้ง กุ้งแห้ง ปลาหมึกแห้ง ยาสมุนไพรจีน โดยมีคาเฟ่เล็ก ๆ ร้านน้ำเต้าหู้ น้ำแข็งใส หรือของที่ระลึกแทรกตัวอยู่ร่วมกัน โดยร้านทั้งหมดนั้นอยู่ภายในอาคารเก่าที่ได้รับการดูแลรักษาไว้อย่างดี ยามที่เดินไปตามอาเขตที่มีซุ้มประตูโค้งไล่เรียงต่อ ๆ กันอยู่ให้เดินเที่ยวแบบไม่ต้องกลัวแดดเปรี้ยงหรือฟ้าฝน ให้ความรู้สึกราวกับกำลังเดินอยู่ในซีรีส์อมตะนิรันกาลอย่างเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้

ถนนตี๋ฮวาสร้างขึ้นในช่วงทศวรรษ 1850 เป็นถนนที่เก่าแก่ที่สุดในไทเป บางส่วนมีมาตั้งแต่การปกครองของดัตช์ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1624 ถึง 1661 สถาปัตยกรรมในย่านนี้ได้รับการอนุรักษ์จากรัฐบาล ขณะที่ชุมชนที่อยู่เองก็มีส่วนในการช่วยดูแล ในช่วงเทศกาลตรุษจีนย่านนี้จะพลุกพล่านไปด้วยผู้คน เพราะเป็นแหล่งที่มีของจำเป็นที่ต้องใช้ในช่วงเทศกาลปีใหม่จีนแบบครบจบ ปัจจุบันมีการจัดตั้งศูนย์บริการนักท่องเที่ยวต้าเต้าเฉิง เพื่อเป็นศูนย์กลางให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาคารเก่าแก่แต่ละจุด รวมทั้งมีการจัดนิทรรศการย้อนวันวานอยู่ชั้นบน นักท่องเที่ยวที่อยากนั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปก็มีชุดให้เปลี่ยนใส่ถ่ายรูปให้เข้ากับรรยากาศด้วย แต่หากอยากได้ภาพฟีลย้อนยุคแบบจัดเต็มมีสตูดิโอถ่ายภาพแอบซ่อนอยู่ตามตรอก ส่วนคนโสดอย่าลืมแวะขอขอเนื้อคู่ที่วัดเสียไห่เฉิงหวง (Xiahai) ที่อยู่ใกล้ ๆ ด้วย ไม่ปั่นจักรยานมาสามารถนั่งรถไฟฟ้าสายสีเขียวมาลงที่สถานี Beimen ออกประตู 3 และเดินต่ออีกประมาณ 10 นาที

เวลายังไม่หมดไปต่อที่ “ศูนย์ความคิดสร้างสรรค์ฮว๋าซาน 1914” (Huashan 1914 Creative Park) ที่เปลี่ยนโรงงานไวน์ไทโฮคุ (Taihoku) เป็นพิพิธภัณฑ์ทางด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ในปี 1999 มีการจัดแสดงนิทรรศการ และการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนพื้นที่สำหรับสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ บางส่วนเป็นร้านอาหารและคาเฟ่ หากเดินเลยไปจนสุดด้านหลังมีสวนสาธารณะ และ Taipei Hope Plaza Farmers Market ตลาดนัดที่เหล่าเกษตรกรจะนำผลผลิตมาจำหน่ายเอง ทั้งผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ สินค้าแปรรูป ที่จะเปิดตลาดทุกเสาร์อาทิตย์ขายกันตั้งแต่เช้ายันเย็น

ใกล้ ๆ ตลาดมีจุดจอดจักรยานหลายจุด ปั่นแล้วมาจอดคืน แล้วค่อยถอยคันใหม่กลับ ลองเช็ค Easy Card ดู ถ้าเช่าใช้ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงต่อครั้ง ไม่คิดค่าบริการด้วยอีกต่างหาก ไม่ต้องพกจักรยานมาเองก็มาปั่นเที่ยวไทเปแบบสบายได้เช่นกัน

อธิชา ชื่นใจ