นักวิจัยหน่วยวิจัยความหลากหลายพืชวงศ์ขิงและพืชที่มีท่อลำเลียงเพื่อการประยุกต์ (Diversity of Family Zingiberaceae and Vascular Plant for Its Applications: DZVA) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) วิจัยพืชวงศ์ขิงอย่างต่อเนื่อง จนค้นพบ “กระเจียวเทพอัปสร” (Curcuma borealis Saensouk, P.Saensouk & Boonma sp. nov.) พืชวงศ์ขิง–สกุลขมิ้นชนิดใหม่ของโลกจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน หลังจากนั้นจึงมีการตีพิมพ์การวิจัยในวารสารระดับนานาชาติ Horticulturae (ISI Q1, Scopus Q1) ปีที่ 10 ฉบับที่ 8 หน้า 787 โดยเผยแพร่ออนไลน์ครั้งแรกในวันที่ 25 กรกฎาคม 2567

กระเจียวเทพอัปสรมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Curcuma borealis” คำว่า “borealis” ที่ต่อท้ายมาจากภาษาละตินแปลว่า “ทางเหนือ” ถูกตั้งขึ้นเพื่อสะท้อนถึงการกระจายพันธุ์ของกระเจียวเทปอัปสรที่พบเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยเท่านั้น

ส่วนชื่อ “เทพอัปสร” ได้แรงบันดาลใจมาจาก “นางอัปสรา” ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นนางฟ้าที่มีความสวยงามในตำนานของศาสนาฮินดูและพุทธ เพื่อให้สอดคล้องกับความสวยงามโดดเด่นของช่อดอกและดอกไม้ของพืชชนิดนี้ โดยเฉพาะเวลาที่ดอกบานพร้อมกันจากใบประดับด้านล่าง ในขณะที่ใบประดับด้านบนยังไม่มีดอก การบานของดอกในลักษณะนี้ดูคล้ายกับภาพของนางอัปสราที่มักสวมชุดพริ้วไหวปกคลุมเฉพาะส่วนล่างและเผยให้เห็นเรือนร่างช่วงบนอย่างอ่อนช้อยและงดงาม

แม้กระเจียวเทพอัปสรจะมีลักษณะคล้ายกับ กระเจียวสุเทพ แต่มีความแตกต่างกันหลายจุด เช่น กระเจียวเทพอัปสรมีเหง้าสีขาวอมเหลืองอ่อน ใบรูปรี ขนาด 29–43 × 13–17 เซนติเมตร, ผิวใบเกลี้ยง ยกเว้นตามแนวเส้นใบมีขน ช่อดอกโดยตรงจากเหง้าแยกจากลำต้นเทียม ใบประดับรูปไข่กลับมีขน กลีบดอกมีขนประปราย เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันหรือสเตมิโนดรูปรีแกมรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ขนาด 1.7–1.9 × 0.8–0.9 เซนติเมตร ก้านชูอับเรณู ขนาดยาว 5.5–6 มิลลิเมตร และกว้างกว่าขนาดประมาณ 4 มิลลิเมตร เดือยอับเรณูไม่มีเมือก และไม่มีส่วนยื่นออกมาที่ฐานเดือยอับเรณู เดือยอับเรณูชี้ออกมาด้านหน้าจากอับเรณู และมีต่อมน้ำหวาน ยาว 8–8.5 มิลลิเมตร

ขณะที่กระเจียวสุเทพมีเหง้าสีน้ำตาลอ่อน ใบรูปหอกกลับ ขนาด 15–45 × 5–12 เซนติเมตร ผิวใบมีขน ช่อดอกเกิดได้สองแบบคือโดยตรงจากเหง้าแยกจากลำต้นเทียมและเกิดระหว่างกาบใบ ใบประดับรูปไข่ ผิวเกลี้ยง กลีบดอกไม่มีขน เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันหรือสเตมิโนดรูปไข่เบี้ยวไม่สมมาตร ขนาด 1.3–1.6 × 0.6–0.9 เซนติเมตร ก้านชูอับเรณู ขนาดยาว 5–7 มิลลิเมตร และกว้างประมาณ 2.5–3 มิลลิเมตร เดือยอับเรณูชี้ออกด้านข้าง มีเมือกเหลวใส มีส่วนนูนยืนออกมาบริเวณฐานเดือยอับเรณู และมีต่อมน้ำหวานที่สั้นกว่า ยาวประมาณ 7–8 มิลลิเมตร

ปัจจุบันพบกระเจียวเทพอัปสรในป่าเบญจพรรณของแม่ฮ่องสอน บนความสูง 300–600 เมตร โดยจะแฝงตัวอยู่ใต้ร่มเงาไม้ผลัดใบ เติบโตได้ดีในดินร่วนปนทรายที่มีกรวดปะปน และชอบพื้นที่ที่มีความชื้นสูง โดยจะเข้าสู่ระยะพักตัวในช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงเมษายน และจะเริ่มเตรียมออกดอกอีกครั้งหลังจากฝนแรกตก ช่อดอกจะเกิดโดยตรงจากตาข้างของเหง้าหลัก จากนั้นจึงแตกหน่อเป็นลำต้นเทียมขึ้นมาพร้อมกันหรือหลังจากที่ช่อดอกโผล่พ้นดินไม่นาน สามารถพบช่อดอกของพืชชนิดนี้ได้ในช่วงปลายเดือนเมษายนเป็นต้นไปจนถึงเดือนกรกฎาคม โดยดอกจะบานในตอนเช้า และพบติดผลในช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม

 หนึ่งในพื้นที่ที่สามารถไปชมกระเจียวเทพอัปสรได้คือ “อุทยานแห่งชาติสาละวิน” ณ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวของดินแดนที่แม่น้ำสาละวินไหลเชี่ยวและทำหน้าที่เป็นพรมแดนกั้นระหว่างไทยกับเมียนมา มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่บริเวณที่ดินป่าแม่ยวมฝั่งขวาและป่าสาละวิน โดยอยู่ในท้องที่ตำบลเสาหิน ตำบลบ้านกาศ ตำบลแม่คง ตำบลแม่ยวม อำเภอแม่สะเรียง และตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย ในฤดูหนาวแม่น้ำสายนี้จะไหลผ่านกลางป่าผลัดใบที่กำลังเริ่มเปลี่ยนสี และมีสายหมอกปกคลุมไปตลอดลำน้ำ ในฤดูร้อนระดับของน้ำจะลดต่ำลงแต่ยังคงความใสสะอาดจนเห็นพื้นทรายใต้น้ำและหาดทรายขาวละเอียดทั้งสองฝั่งสลับกับโขดหินใหญ่ที่โผล่พ้นน้ำ

เนื่องจากมีพิสัยการกระจายพันธุ์น้อยกว่า 2,000 ตารางกิโลเมตร และมีพื้นที่การกระจายพันธุ์น้อยกว่า 100 ตารางกิโลเมตร จากการสำรวจพบน้อยกว่า 5 แหล่งการกระจายพันธุ์ และมีจำนวนประชากรที่โตเต็มที่ไม่ถึง 250 ต้น ทำให้ผู้วิจัยเสนอให้กระเจียวเทพอัปสรจัดอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ตามหลักเกณฑ์ของ IUCN Red List Version 16 ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์ อันเกิดจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศที่รุนแรงขึ้นจากภาวะโลกร้อน และภัยคุกคามที่อาจเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ นอกจากนี้ยังพบว่าถูกนำไปจำหน่ายในตลาด การมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นจึงจะเป็นหนึ่งในบทบาทสำคัญเพื่อรักษาพันธุ์พืชนี้ให้คงอยู่ และอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่จำกัดอย่างยั่งยืน

แวะไปเยือนแม่ฮ่องสอนในช่วงหน้าฝน นอกจากได้สูดอากาศบริสุทธิ์แล้ว อาจมีโอกาสได้เห็น “นางฟ้าแห่งขุนเขา” ตัวจริง…เบ่งบานอยู่ท่ามกลางไอหมอกและกลิ่นฝนด้วย

ขอบคุณภาพประกอบ : เพจ The Earth, คุณ พอ พอ และอุทยานแห่งชาติสาละวิน