สำนักข่าวซินหัวรายงานจากเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ว่าการทดลองระยะเริ่มต้น ( pre-clinical ) พบว่า การรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงเพียง 2 วัน ลดระดับอินเตอร์ลิวคิน 22 ( IL-22 ) ซึ่งเป็นโปรตีนป้องกันสำคัญที่ช่วยรักษาสุขภาพลำไส้และควบคุมการอักเสบ “ลงอย่างมีนัยสำคัญ” โดยหนูทดลองที่ดูสุขภาพดีแสดงสัญญาณการอักเสบระดับจุลภาค และการทำงานของลำไส้บกพร่อง
ทีมนักวิจัยกล่าวว่า อาหารทุกมื้อที่เรารับประทานส่งผลต่อสุขภาพลำไส้ ยิ่งรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงมากเท่าไร ยิ่งสะสมการอักเสบมากขึ้นเท่านั้น ทำให้ภูมิคุ้มกันของลำไส้ค่อย ๆ อ่อนแอลง และเพิ่มความเสี่ยงของการอักเสบเรื้อรัง
ทั้งนี้ อาการอักเสบเรื้อรัง เช่น โรคเซลีแอค ( coeliac) โรคลำไส้อักเสบ และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่ าอาหารที่มีไขมันสูงไม่เพียงกระตุ้นการอักเสบ แต่ยังกดความสามารถของร่างกายในการต่อสู้กับการอักเสบ ด้วยการลดอินเตอร์ลิวคิน 22 โดยความสามารถปกป้องของลำไส้จะลดลง ภายในเวลาเพียง 2 วัน
อย่างไรก็ดี คณะนักวิจัยยังพบว่า ไขมันไม่อิ่มตัว เช่น ไขมันในถั่ว เมล็ดพืช และอะโวคาโด ช่วยเพิ่มอินเตอร์ลิวคิน 22 และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันลำไส้ รวมถึงสามารถฟื้นฟูการทำงานของลำไส้ในหนูทดลอง ด้วยการเติมอินเตอร์ลิวคิน 22 ซึ่งบ่งชี้ศักยภาพของการฟื้นฟูสุขภาพลำไส้ในมนุษย์
คณะนักวิจัยหวังว่า ผลการศึกษานี้จะมีอิทธิพลต่อการกำหนดแนวปฏิบัติการรับประทานอาหาร เพื่อมุ่งสนับสนุนสุขภาพลำไส้ที่ดีตามธรรมชาติผ่านโภชนาการ โดยเฉพาะการส่งเสริมไขมันไม่อิ่มตัว และลดการบริโภคไขมันอิ่มตัว
อนึ่ง ผลการศึกษาดังกล่าวร่วมจัดทำโดย สถาบันวอลเตอร์และอีไลซา ฮอลล์ มหาวิทยาลัยโมนาช สถาบันเบเกอร์ และมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น และเผยแพร่ผ่านวารสารอิมมูนิตี ( Journal of Immunity ) ในสัปดาห์นี้.
ข้อมูล : XINHUA
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES