จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติมอบหมายให้นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนในการบริหารสั่งการกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หลังจาก พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกำกับดูแลดีเอสไอ และรองประธานคณะกรรมการคดีพิเศษ จากกรณีที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวนหนึ่ง เข้าชื่อเสนอคำร้องต่อประธานวุฒิสภาไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ว่า พ.ต.อ.ทวี ใช้ดีเอสไอเป็นเครื่องมือแทรกแซงกระบวนการตรวจสอบการเลือก สว. ตามที่ข่าวเสนอไปก่อนหน้านี้
ครม.มอบ ‘ชูศักดิ์’ คุม ‘ดีเอสไอ’ หลัง ‘ทวี’ โดนศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดดูแล

สำหรับ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” ถือเป็นบุคคลที่มีโปรไฟล์ไม่ธรรมดา และถ้าหากพูดถึงเรื่องการศึกษา ในทางด้านกฎหมายของ “ชูศักดิ์” นั้นน่าทึ่งเป็นอย่างมาก เพราะจบปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต และได้เกียรตินิยมดี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถมคว้าเนติบัณฑิตไทย จากนั้นก็บินลัดฟ้าไปศึกษาต่อ จนจบปริญญาโทสาขากฎหมายเปรียบเทียบ จากมหาวิทยาลัย Southern Methodist สหรัฐอเมริกา สะท้อนถึงพื้นฐานทางกฎหมายที่แน่นปึ้กสุดๆ

นอกจากนี้ เส้นทางอาชีพของ “อ.ชูศักดิ์” เริ่มต้นจากการเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตั้งแต่ปี 2515 ก่อนจะไต่เต้าสู่ตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ และต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ระหว่างปี 2532-2537 อีกทั้ง “อ.ชูศักดิ์” ยังเคยดำรงตำแหน่งอนุกรรมการในคณะกรรมการ ป.ป.ป. (ในอดีต) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยสั่งสมประสบการณ์ทั้งในสายวิชาการ และงานด้านการตรวจสอบอย่างเต็มเปี่ยมอีกด้วย

อีกทั้ง หากจะพูดถึงทางด้านการเมือง “อ.ชูศักดิ์” นั้นมีบทบาทไม่น้อย เพราะเคยเป็นที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคไทยรักไทย และได้รับเลือกเป็น สส.บัญชีรายชื่อในปี 2544 และ 2548 หลังพรรคไทยรักไทยถูกยุบ ก็ได้ย้ายมาร่วมงานกับพรรคพลังประชาชน และดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพรรค จนกระทั่งได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล “นายสมัคร สุนทรเวช” และเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล “นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์”

อย่างไรก็ตาม ด้วยความสามารถที่มากล้น จึงทำให้ “อ.ชูศักดิ์” ได้ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลของ “นางสาวแพทองธาร ชินวัตร” และการได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จึงเป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญ ที่ท้าทายศักยภาพของนักกฎหมาย และนักการเมืองผู้มากประสบการณ์คนนี้อีกด้วย

ขอบคุณข้อมูล : wikipedia