อะไรคือต้นเหตุของการเปลี่ยน แปลง “ความได้เปรียบที่ลดลง” ในวงนักวิชาการสายความยั่งยืนพูดคุยกันว่า สาเหตุใหญ่คือ กระแสบริโภคนิยมสุดโต่ง และการค้าเสรี ที่ทำให้ชาวอเมริกันเสียเปรียบ และขาดความสามารถในการพึ่งพาตัวเอง สหรัฐอเมริกาเคยมีความแข็งแกร่งด้านนวัตกรรม การตลาด การสร้างมูลค่าแบรนด์ การผลิต และเทคโนโลยี เขาจึงส่งเสริมระบบการค้าเสรีที่เขาได้เปรียบ เคยสร้างประโยชน์มหาศาล
เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป โลกตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้มากขึ้น ดีขึ้น ถูกขึ้น ทั้งโรงงานการผลิตสินค้าต่าง ๆ ได้ถูกย้ายฐานการผลิตไปอยู่ในเอเชีย และโลกที่สามที่มีค่าแรงต่ำกว่า ทำให้ห่วงโซ่สินค้าและบริการโลกเปลี่ยนไป ยุคการค้าเสรีที่สหรัฐอเมริกาได้เปรียบด้วยขนาด และความสามารถกำลังจะหมดไป ใน EU ยุคใหม่ก็เน้นสินค้าและบริการที่มีความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสหรัฐอเมริกาเสียเปรียบ ดังนั้นกฎกติกาการค้าที่เกี่ยวกับความยั่งยืนจึงถูกเมินเฉย
ด้วยเหตุเหล่านี้ สหรัฐอเมริกาจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนเกมครั้งใหญ่ ปัจจุบันชาวอเมริกันแทบจะพึ่งพาตัวเองไม่ได้เลย ผู้คนบริโภคนิยมเกินความจำเป็น และสินค้าส่วนใหญ่ต้องนำเข้า ซึ่งถ้าจะดึงกลับมาตั้งโรงงานผลิตในประเทศ ค่าแรงก็จะแพงเกินไป ชาวอเมริกันหันมาใส่ใจความยั่งยืนของตัวเองมากขึ้น (American First) ทิ้งความยั่งยืนของโลกไว้ข้างหลัง และเชื่อว่าการเปลี่ยนเกมครั้งใหญ่นี้ สหรัฐอเมริกาจะต้องเพิ่ม “ความสามารถในการพึ่งพาตัวเอง” ให้ได้
การขึ้นกำแพงภาษีนั้นก็เป็นหนึ่งในหลายมาตรการที่พยายามปรับ “สมดุล” ไม่ให้เสียเปรียบจากประเทศต่าง ๆ ที่มีความเข้มแข็งมากขึ้น และการไม่สนใจการค้าเสรีแบบเดิม ก็เป็นการเพิ่มเกราะ “ภูมิคุ้มกัน” ให้ตนเองอีกทาง

อย่างไรก็ตามตอนนี้สหรัฐอเมริกากำลังใช้ “เหตุผล” คิดมากขึ้นเพื่อเพิ่มความสามารถในการพึ่งพาตัวเอง และใช้ “ความพอประมาณ พอดี” ในการเจรจาต่อรองเรื่องภาษี ถึงแม้จะเปิดไพ่ด้วยการขู่แบบสุดโต่งตามสไตล์ของเขา แต่ในที่สุดคงจะเจรจาให้ win–win ทั้งสองฝ่าย ให้เขาคงความได้เปรียบแบบ “พอประมาณ”
ทั้งหมดนี้นักวิชาการความยั่งยืนเชื่อว่า เป็นการปรับฐาน “ความสมดุล” ของเศรษฐกิจโลก ทำให้ห่วงโซ่สินค้าและบริการเปลี่ยนทิศ จะมีผลดีต่อประเทศพันธมิตรของเขา แต่สำหรับกลุ่มประเทศคู่แข่งจะได้รับผลตรงกันข้าม นักวิชาการเดาว่า เขาใช้แนวคิด “ความพอเพียง พอดี” ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นศูนย์กลาง สร้างสมดุลใหม่ให้เศรษฐกิจของเขา
อีกเรื่องใหญ่ที่เปลี่ยนไปคือ การเพิ่มกระทรวงประสิทธิภาพของรัฐบาล (DOGE) สวนทางแนวความคิดเรื่อง “ขนาด” ที่เขาเคยเชื่อว่า ความใหญ่โตมีความสำคัญ องค์กรขนาดใหญ่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่มีพลัง ตามทฤษฎี “Size Matter” แต่จากนี้ไป ยามเศรษฐกิจมีปัญหา ต้องประหยัด ต้องใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการของรัฐบาลอเมริกันเปลี่ยนทิศมาเป็น เล็กและดี ลดขนาด ควบรวมหน่วยงาน ลดไขมัน เพิ่มประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยี AI นี่คือ การบริหารตามทฤษฎี “Small is Beautiful” ซึ่งคล้ายกับวิธีคิดแบบ “พอเพียง” ของเรานั่นเอง
เหล่านักวิชาการความยั่งยืน ที่ติดตามความเคลื่อนไหวของรัฐบาลทรัมป์มา 100 วัน อ่านว่าสหรัฐอเมริกาพยายามสร้าง “ภูมิคุ้มกัน” เพิ่มความสามารถในการ “พึ่งพาตัวเอง” เปลี่ยนแปลงปรับตัวด้วย “เหตุผล” ตามโลกที่เปลี่ยนไป และปรับวิธีการจัดการให้กระชับ เพิ่มประสิทธิภาพ ไม่ใหญ่โตสุดโต่งแบบเดิมด้วยความ “พอประมาณ”
ฟังนักวิชาการคุยกันเรื่อง 100 วัน Trump เหมือนฟังแนวคิด “พอเพียง” ที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ แต่นักวิชาการยังไม่ได้เฉลยเรื่องรากฐานที่สำคัญ ได้แก่ “ความรู้” อะไรที่เขานำมาใช้ในการเปลี่ยนแปลง และเรื่อง “คุณธรรม” ความชอบธรรม เป็นธรรม การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย และเป้าประโยชน์สุขส่วนรวม ซึ่งอาจจะเป็นไพ่ใบต่อไป ตอนนี้เราเห็น “พอเพียงครึ่งใบ” ของเขาแล้ว ปลายทางจะเต็มใบหรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป
ไทย อเมริกัน มีความสัมพันธ์อันดีมายาวนาน หวังว่าจะมีผู้แทนในคณะเจรจาของไทย ที่รู้จริงเรื่อง “ความพอเพียง” ใช้หลักการนี้ในการเจรจาปรับ “สมดุล” การค้า หาข้อเสนอที่สร้าง “ประโยชน์สุขร่วม” ซึ่งเป็นเป้าหมายในการสร้าง “สมดุลใหม่” ตอบโจทย์ผู้นำอเมริกัน ตอบโจทย์ธุรกิจไทย น่าจะทำให้การเจรจาที่ยังนัดไม่ได้สำเร็จได้อย่างยั่งยืน.