เมื่อวันที่ 6 พ.ค. ที่รัฐสภา นายฐาคณิษฐ์ พรทองประเสริฐ ผู้ช่วยเลขานุการประธานรัฐสภา แถลงชี้แจงต่อกรณีที่มีผู้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา อ้างว่ามีมิจฉาชีพแอบอ้างว่าตนหลอกหลวงชักชวนลงทุนและวิธีการอื่นๆ ทำให้มีผู้เสียหายหลายราย ทั้งนี้ได้ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นการนำชื่อของตนและภาพถ่ายของตนเปิดบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ปลอม รวมกว่า 30 บัญชี เพื่อหลอกลวงกลุ่มผู้เสียหายในรูปแบบต่างๆ และมีผู้หลงเชื่อและโอนเงินให้กับกลุ่มมิจฉาชีพหลายครั้ง เมื่อตนได้นำเรื่องไปแจ้งความต่อ สน.บึงกุ่ม เมื่อ 13 ม.ค. 2566 และ 7 พ.ย. 2567 รวมถึง ร้องทุกข์ต่อกองบังคับการตำรวจสืบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 (บก.สอท.1) เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2567 และจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ที่รับคดีไว้ ระบุความคืบหน้าคดี เมื่อ 11 ก.พ. 2568 ว่าให้งดการสอบสวน เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากผู้ให้บริการมีถิ่นที่อยู่ต่างประเทศ จึงไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำผิด
“สันนิษฐานว่าคนที่ทำไม่ใช่คนไทย โดยเป็นชาวต่างชาติ เพราะการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ไม่สามารถสอบต่อไปได้ ทั้งนี้ในการตรวจสอบบัญชีที่แอบอ้าง พบว่าบางบัญชีสะกดชื่อผิด และบางบัญชีสะกดนามสกุลผิด ทั้งนี้บางบัญชีมีชื่อถูกต้อง แต่ใช้รูปบุคคลอื่น ทั้งนี้ในการตรวจสอบทางคดี ผู้เสียหายที่แจ้งความดำเนินคดีกับผมได้ทำความเข้าใจที่สถานีตำรวจแล้ว และได้ถอนแจ้งความ” นายฐาคณิษฐ์ กล่าว
นายฐาคณิษฐ์ กล่าวต่อว่า จากกรณีที่เกิดขึ้น หากมีผู้เสียหายแนะนำให้ไปติดตามทวงถามยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น แจ้งความที่สน. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงให้ผู้ที่มีอำนาจออกหมายเรียก หมายจับตามขั้นตอนของกฎหมาย จะเป็นประโยชน์มากกว่าที่จะมาร้องเรียนตนที่หน่วยงานต่างๆ ซึ่งทำให้ตนเสียหายเสียชื่อเสียง ทั้งที่ตนไม่มีส่วนร่วมกระทำความผิด อย่างไรก็ดี หากมีข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีผู้เสียหายรวมตัวร้องเรียนตนอีก โดยพบเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตและไม่มีพยานหลักฐานใดๆ เกี่ยวข้องกับตนว่าเป็นผู้กระทำความผิด ตนจะใช้สิทธิตามกฎหมาย เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อไป.