เดลินิวส์ได้จัดเวที เสวนา ‘Sustain Daily Talk 2025’ ในหัวข้อ ‘Sustainable Green Finance โอกาส และความท้าทายโดยแสงชัย ธีรกุลวาณิชประธานยุทธศาสตร์ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ได้มาบอกเล่าภาพรวมของเอสเอ็มอีไทย ต่อการปรับตัวของประชาคมโลกที่ต้องการสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการตั้งรับการปรับภาษีนำเข้าจากสหรัฐของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ

      แสงชัย กล่าวว่า จากการปรับขึ้นภาษีส่งออกจากนโยบายของทรัมป์ สินค้าเอสเอ็มอีมีสัดส่วน 20% ของสินค้าส่งออกคิดเป็นมูลค่า 7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว 10% ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการ 3,700 ราย คิดเป็นมูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จะเห็นว่าตลาดเอสเอ็มอีพึ่งพาตลาดสหรัฐเป็นหลัก รองลงมาคือจีนและญี่ปุ่น โดยมีมาเลเซียเป็นประเทศคู่ค้าหลักในอาเซียน

       “ประเทศจีนได้พูดไว้อย่างน่าสนใจในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติดังนี้ 1.ลดความเข้มข้นการปล่อยก๊าซคาร์บอน 2.ไม่ต้องการถ่านหิน จีนทำเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน 3.เร่งยอดขายอีวี นอกจากนี้จีนเร่งพัฒนาพลังงานไฮโดรเจน เรื่องนี้จะเป็นเศรษฐกิจใหม่ของจีน นอกจากนั้นจีนยังมีเศรษฐกิจการบินระดับต่ำ ที่จะมาช่วยเรื่องเศรษฐกิจคุณค่าเพิ่ม ทำให้เกิดการขับเคลื่อนด้านการขนส่ง คมนาคม เรื่องการส่งสินค้า เราอาจมองว่าวันนี้เอสเอ็มอีของประเทศไทยอาจต้องมาถอดบทเรียน และเอสเอ็มอีไทยต้องถอดบทเรียนเกาหลีใต้ เพราะประเทศนี้ได้ทำเรื่อง Environmental, social, and governance (ESG) ESG for SME เป็นการเฉพาะ จากการสำรวจของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) เอสเอ็มอีไทยมีสัดส่วนแค่ 4% ที่ทำเรื่อง ESG ที่น่าตกใจ มีไม่ถึง 4% ที่มีการปรับตัวเรื่อง ESG ที่น่าสนใจคือกลุ่มที่รู้ยังตัดสินใจไม่ได้เพราะรอเงิน ขณะเดียวกันยังมีกลุ่มเอสเอ็มอีโซนสีแดง ที่ขาดความพร้อมทั้งเรื่องเงิน คน และความพร้อมเรื่องเทคโนโลยี

      ประธานยุทธศาสตร์ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวต่อว่า การปรับเปลี่ยนเอสเอ็มอี ต้องไปพร้อมไปกับ “แรงงานสีเขียว” ผู้ประกอบการต้องดึงแรงงานไปด้วย ซึ่งการที่จะดึงแรงงานคือการลงทุน จากข้อมูลพบว่ามีเอสเอ็มอี ไม่ถึง 10% ที่ทำเรื่องการพัฒนาทักษะแรงงาน วันนี้การมีสมาพันธ์เอสเอ็มอี จึงเหมือนจิ๊กซอว์ไปช่วยเติมเต็มให้สถาบันการเงินต่าง ๆ เข้ามาร่วมมือผลักดันเอสเอ็มอีสีเขียว แรงงานสีเขียว เพราะในภาคเอสเอ็มอีมีการจ้างงานถึง 13 ล้านคน คิดเป็น 70% ของการจ้างงานภาคเอกชน

       แสงชัย ให้ความเห็นว่า สำหรับการนำเอสเอ็มอีไทยเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน ต้องทำ ดังนี้ 1.ต้องการองค์ความรู้ และต้องมีพี่เลี้ยง วันนี้ทิศทางของภาครัฐในการกำกับมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการเดิน และมีคำถามตามมาว่าได้มาตรฐานสากลหรือยัง เอสเอ็มอี ต้องการที่ปรึกษา เพื่อบอกเล่าเรื่องปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานที่ลดโลกร้อน จะต้องเดินอย่างไร เป็นต้น

2.เรื่องเงิน ขณะนี้เอสเอ็มอีไทยใช้บริการสถาบันการเงินพาณิชย์มากกว่าสถาบันการเงินของรัฐ มีเอส
เอ็มอีประมาณ 1 ใน 5 ยังกู้เงินจากสถาบันการเงินพาณิชย์

       “น่าตกใจที่เอสเอ็มอี กู้เงินนอกระบบจำนวนมาก ที่สำคัญยังมีเอสเอ็มอีที่กู้เงินทั้งในและนอกระบบมาทำธุรกิจ หรือการเงินแบบไฮบริดเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก ดังนั้นประเทศไทยต้องทำเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ จะทำเรื่องกรีนไฟแนนซ์ต้องทำให้ เอสเอ็มอีมาใช้สินเชื่อในระบบให้มากที่สุด แต่ไม่ใช่ให้เงินเพียงอย่างเดียว
การสร้างวินัยทางการเงินเป็นสิ่งที่จะต้องทำ พร้อมกับการปลูกฝังเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือรู้จักพอประมาณใช้เหตุผล”

       อย่างไรก็ตามการนำพาเอสเอ็มอีสู่ความยั่งยืน ประเทศไทยต้องก้าวผ่านกับดัก 5 เรื่องไปให้ได้ ดังนี้ 1.กับดักหนี้ ทำอย่างไรที่จะทำให้ผู้ประกอบการก้าวข้าม 2.กับดักคน มีการยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการอย่างเป็นระบบ 3.กับดักทุน คือต้นทุน เรามีต้นทุนพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า น้ำมัน ไม่ว่าต้นทุนวัตถุดิบที่เราต้องพึ่งพาจากต่างประเทศ 4.กับดักเทา วันนี้เกิดเศรษฐกิจนอกระบบมากขึ้น จึงต้องการบังคับการใช้กฎหมายและการปราบปรามอย่างเข้มข้น เพราะทุนเทาไม่ใช่ต่างชาติแต่เป็นทุนเทาในประเทศด้วย 5.กับดักรัฐ ภาครัฐจะต้องยกเครื่องบริการที่เป็นมิตร ต้องเพิ่มความเป็นมิตรต่อภาคบริการ ภาคประชาชนในการปรับตัวเอาดิจิทัลมาใช้ทำให้บริการของรัฐสะดวกรวดเร็ว ลดขั้นตอน รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคให้ผู้ประกอบการ

       ทั้งนี้บทบาทของ สมาพันธ์เอสเอ็ม อีไทย ได้ทำภารกิจหลักใน 5 เรื่องดังนี้

       1.เชื่อมโยงความรู้ผ่านช่องทางความร่วมมือต่าง ๆ ประสานหน่วยงานภาครัฐพัฒนานวัตกรรมเปลี่ยนกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

       2.สนับสนุนให้สามารถเข้าถึงเงินลงทุนสีเขียว เพราะมีบทบาทสำคัญที่จะสร้างธรรมาภิบาล ที่ผ่านมา 4 ปี มีผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อ 1,300 ราย ใช้เม็ดเงิน 3,000 ล้านบาท

       3.สร้างตลาดที่เป็นมิตรกับสวล. เอสเอ็มอีพยายามทำมิตินี้ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือกับสสว.ร่วมการส่งเสริมตลาดและเชื่อมโยงกับภาคเอกชนด้วยกันเอง เพื่อทำให้เอสเอ็มอีเติบโตจากท้องถิ่นไปสู่สากล วันนี้ต้นทุนของเอสเอ็มอีเกี่ยวกับมาตรฐาน ขั้นตอน เป็นเรื่องท้าทายและอุปสรรค

       4.ช่วยเหลือผู้ประกอบการให้เกิดการสร้างเครือข่าย ที่จะเป็นช่องทางสื่อสารต่าง ๆ ในทุกภาค ทำให้มีมาตรการที่ดีทั้งภาครัฐเอกชน และธนาคารรัฐส่งถึงมือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รวดเร็ว

       5.เป็นกระบอกเสียงบอกภาครัฐเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาขับเคลื่อนโอกาส ขณะนี้ประเทศไทยมีเอสเอ็มอี 2.3 ล้านรายเป็นเอสเอ็มอีขนาดไมโครถึง 85%.