เนื่องจากมีการคาดการณ์ไว้ว่า ยานอวกาศ ‘คอสมอส 482’ ของสหภาพโซเวียตที่ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศเมื่อ 53 ปีก่อนกำลังจะตกลงสู่พื้นผิวโลกในสัปดาห์หน้า จึงมีการประเมินสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้จากผู้เชี่ยวชาญ
เดิมที คอสมอส 482 ซึ่งเดินทางสู่อวกาศเมื่อวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1972 มีจุดหมายอยู่ดาวศุกร์ แต่ภารกิจดังกล่าวล้มเหลว เนื่องจากระบบตัดการเผาไหม้ของจรวดขับเคลื่อนก่อนกำหนด ทำให้ยานไม่สามารถหลุดพ้นวงโคจรของโลกได้ ยานอวกาศน้ำหนัก 495 กิโลกรัมจึงโคจรรอบโลกมาเป็นเวลา 53 ปีแล้ว
‘นาซา’ คาดการณ์ว่า คอสมอส 482 จะกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกระหว่างวันที่ 7 – 13 พฤษภาคม ส่วนพื้นที่ที่คาดว่าจะตกลงมานั้นครอบคลุมละติจูดระหว่าง 52°N ถึง 52°S ซึ่งรวมถึงสหราชอาณาจักร ยุโรป เอเชีย แอฟริกา ออสเตรเลีย และทวีปอเมริกา
ดร. ชุภัม กุลกานี จากภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้น หากยานคอสมอส 482 ตกลงในกรุงลอนดอน โดยระบุว่า นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเดลฟท์ ได้คำนวณความเร็วของการชนพื้นโลกไว้ที่ 155 ไมล์ต่อชั่วโมง (249 กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
ด้วยความเร็วนี้ แรงกระแทกจากดาวเทียมหนักกว่า 480 กิโลกรัมจะปล่อยพลังงานเทียบเท่ากับระเบิดทีเอ็นทีประมาณ ¼ กิโลกรัม
ดร. กุลกานี อธิบายว่า แรงกระแทกนี้คล้ายกับการชนของรถตู้ขนาดใหญ่กับวัตถุด้วยความเร็วประมาณ 50 ไมล์ต่อชั่วโมง (80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ดังนั้น หากเศษชิ้นส่วนยานอวกาศตกลงบนรถยนต์ขนาดเล็กหรือรถตู้ ก็จะทำลายรถเหล่านั้นได้อย่างแน่นอน หากตกลงบนบ้าน ก็อาจทำลายห้องในบ้านได้สักห้อง แต่แรงกระแทกจะไม่รุนแรงมากนัก
นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเน้นย้ำว่า “เราไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนก และนี่คือสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด” พร้อมเสริมว่า “โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้มีน้อยมาก แต่ถึงแม้จะเกิดขึ้น ความเสียหายก็จะจำกัดอยู่ในวงแคบ”
ดร. กุลกานี คาดการณ์ว่า พื้นที่ที่ยานน่าจะตกใส่มากที่สุดคือมหาสมุทรหรือพื้นที่ที่มีประชากรเบาบาง เนื่องจาก 71 เปอร์เซ็นต์ของพื้นผิวโลกปกคลุมด้วยน้ำ ดังนั้น สถานการณ์ที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ คนในบางเมืองอาจได้เห็นลูกไฟสว่างพาดผ่าน และจากนั้นยานก็จะตกลงในน้ำหรือพื้นที่ที่ไม่มีผู้คนอาศัยอยู่
นอกจากนี้ เขายังกล่าวเสริมว่า แม้ว่ายานอวกาศจะมีความทนทานเพียงพอที่จะรอดพ้นจากการพุ่งผ่านชั้นบรรยากาศ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ยานจะแตกสลายหลังจากเสียดสีกับชั้นบรรยากาศอย่างรุนแรงจนแทบไม่เหลือชิ้นส่วนขนาดใหญ่
ที่มา : ladbible.com
เครดิตภาพ : YouTube / CLRCUT