เมื่อวันที่ 2 พ.ค. จากกรณีผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ เมาแล้วขับชนนักข่าวบาดเจ็บสาหัส 2 ราย พบผลเป่าวัดแอลกอฮอล์ได้ 119 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ โดยต่อมาปรากฏข่าวว่า ผอ.รพ. ดังกล่าว ขอลาออกจากราชการ เพื่อต่อสู้ทางคดี ตามที่สื่อมวลชนหลายสำนักนำเสนอข่าวไปนั้น ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า หากลาออกจากราชการแล้ว แสดงว่าจะไม่ต้องมีการสอบทางวินัยราชการใช่หรือไม่

นพ.ศักดา อัลภาชน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการดำเนินการเรื่องนี้ว่า กระทรวงสาธารณสุข รับทราบเรื่องดังกล่าวและไม่ได้เพิกเฉยหรือนิ่งนอนใจแต่อย่างใด เนื่องจากผู้กระทำผิดเมาแล้วขับ เป็น ผอ.โรงพยาบาล ซึ่งมีตำแหน่งระดับเชี่ยวชาญ เทียบเท่าซี 9 ดังนั้น ตามระเบียบทางราชการหากข้าราชการระดับเชี่ยวชาญ จะเป็นอำนาจของปลัดกระทรวงสาธารณสุขในการดำเนินการทางวินัยและแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ซึ่งตามระเบียบราชการของการสอบวินัยฯ และเพื่อความเป็นธรรม จะต้องมีการรายงานข้อเท็จจริงเบื้องต้นจากทางจังหวัดส่งมายังปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยปกติแล้วปลัดกระทรวงจะต้องดำเนินการตามขั้นตอน กล่าวคือจะมี 2 กระบวนการ คือ ดำเนินการสืบ สวนชี้มูลการกระทำผิด แล้วจึงจะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยต่อไป

นพ.ศักดา กล่าวว่า แต่ในกรณีนี้เป็นการกระทำผิดโดยชัดแจ้งจึงไม่ต้องสืบสวนแล้ว แต่ต้องได้รับรายงานข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากพื้นที่ คือ จ.ชัยภูมิ ที่จะต้องรายงานมาที่กระทรวงฯ จึงตัดกระบวนการสืบสวนหามูลที่ควรกล่าวหาว่า ผอ.รพ.คนดังกล่าว กระทำผิดวินัยไป ต่อจากนั้นก็สามารถตั้งสอบสวนทางวินัย ได้ทันที

“ซึ่งขณะนี้ได้เร่งรัดและรอข้อมูลข้อเท็จจริงจากทาง จ.ชัยภูมิ รายงานมายังกระทรวงฯ เมื่อได้รับรายงานข้อเท็จจริงแล้ว ก็สามารถตั้งคณะกรรมการสอบวินัยได้ทันที เรื่องนี้ท่านปลัดกระทรวงฯ กำชับให้ดำเนินการตามระเบียบราชการ ตามข้อเท็จจริงและเป็นธรรมที่สุด” นพ.ศักดา กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้เกิดข้อสงสัยว่า เมื่อข้าราชการระดับสูงลาออก จะยังสอบวินัยได้มากน้อยแค่ไหน นพ.ศักดา กล่าวว่า โดยขั้นตอนระเบียบทางราชการในการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยข้าราชการนั้น จะพิจารณาฐานความผิดว่า ไม่ร้ายแรง หรือร้ายแรง ซึ่งหากลาออกไปแล้วนั้น ตามกฎหมายเมื่อไม่มีสภาพเป็นข้าราชการ การดำเนินการทางวินัยจะแยกเป็น 2 กรณี หากฐานวินัยไม่ร้ายแรง กฎหมายระบุว่า กรณีไม่มีสภาพเป็นข้าราชการแล้ว กฎหมายให้ยุติการดำเนินการ อันนี้เป็นข้อกฎหมาย แต่ถ้าเป็นกรณีวินัยอย่างร้ายแรงป ลัดกระทรวงยังมีอำนาจดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรง โดยตั้งกรรมการสอบวินัยอย่างร้ายแรงและลงโทษได้ภายหลังจากไม่มีสภาพหรือลาออกจากการเป็นข้าราชการได้ภายใน 3 ปี นี่คือขั้นตอนตามระเบียบกฎหมายของข้าราชการพลเรือน (ก.พ.).