“เดลินิวส์” เปิดเวทีสัมมนา “Sustain Daily Talk 2025” หัวข้อ Sustainable Green Finance โอกาสและความท้าทาย พร้อมเปิดเวทีให้ผู้นำองค์กรชั้นนำได้ร่วมแชร์ประสบการณ์ในหัวข้อ “พร้อมไหมประเทศไทย? ตลาดเงินตลาดทุนสีเขียว” โดย “ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร” รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุนตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้กล่าวถึงบทบาทของตลาดทุนในฐานะกลไกสำคัญเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โดยระบุว่า “เราไม่สามารถแยกเศรษฐกิจออกจากสิ่งแวดล้อมได้อีกต่อไป เพราะวิกฤติสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคธุรกิจ สังคม และวิถีชีวิตของทุกคน”
พร้อมยกตัวอย่างถึงผลกระทบในระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ไฟป่าในรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือในช่วงปี 2010–2019 ที่ทั่วโลกต้องสูญเสียทางเศรษฐกิจรวมเกือบ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ จากภัยธรรมชาติและสภาพอากาศที่ผันผวนรุนแรง ตลอดจนประเทศไทยเองก็ประสบกับผลกระทบดังกล่าวเช่นกัน โดยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยสูญเสียทางเศรษฐกิจจากอุทกภัยเป็นมูลค่ามากกว่า 76,500 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละเกือบ 4,800 ล้านบาทต่อปี

จากสถานการณ์ดังกล่าว ตลท. ได้เล็งเห็นถึงบทบาทของตลาดทุนในการเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไทยไปสู่ความยั่งยืน โดยในปี 2567 มีพัฒนาการที่สำคัญ ได้แก่ การมีผู้ออกตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (ESG Bond) จำนวน 35 ราย คิดเป็นมูลค่าคงค้างรวมกว่า 818,000 ล้านบาท และการมีกองทุน ESG Fund จำนวน 156 กองทุน มูลค่าสินทรัพย์รวมกว่า 83,000 ล้านบาท
“เครื่องมือทางการเงินเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยระดมทุนให้กับธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม แต่ยังเปิดโอกาสให้นักลงทุนได้มีส่วนร่วมในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกต่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรม” ดร.ศรพล กล่าว
นอกจากนี้ ตลท. ยังได้เปิดตัว “ดัชนี Thai ESGX” ซึ่งเป็นการรวบรวมหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่มีผลการดำเนินงานด้าน ESG ที่โดดเด่น เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ภาคเอกชนปรับตัวเข้าสู่หลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากขึ้น อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล โดยเฉพาะการจัดการข้อมูล ESG ที่มีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ อาทิ “SET Carbon” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มจัดการข้อมูลก๊าซเรือนกระจกที่สามารถคำนวณได้โดยอัตโนมัติ เชื่อมต่อกับหน่วยงานภายนอก รองรับการรายงานตามมาตรฐาน และเปิดให้ผู้ตรวจสอบภายนอกสามารถเข้าทวนสอบได้ รวมถึง “ESG Data Platform” ซึ่งเป็นระบบรวบรวมข้อมูล ESG เชิงปริมาณ เช่น การใช้พลังงาน น้ำ วัตถุดิบ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก แรงงาน และโครงสร้างกรรมการ ซึ่งสามารถนำมาเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้ โดยย้ำว่า “ข้อมูลคือหัวใจสำคัญของความโปร่งใสและการตัดสินใจที่มีคุณภาพ สำหรับทั้งนักลงทุน ภาครัฐ และภาคธุรกิจ”

ดร.ศรพล กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาแพลตฟอร์ม SET Carbon ที่สามารถคำนวณการปล่อยคาร์บอนของบริษัทจด
ทะเบียนแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและระยะเวลาในการดำเนินการ โดยกระบวนการจะเริ่มต้นจากการเก็บข้อมูล เช่น ใบเสร็จค่าน้ำมันและไฟฟ้า และนำมาคำนวณตามสูตรมาตรฐาน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้องค์กรภายนอกสามารถเข้ามารับรองผลได้
แม้ว่าการลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และบล็อกเชน อาจมีต้นทุนเริ่มต้นที่สูง แต่หากมีการออกแบบให้สามารถใช้งานได้หลากหลาย เช่น การวัดคาร์บอนและการรายงาน ESG ก็จะช่วยประหยัดงบประมาณในระยะยาว ซึ่ง ตลท. มีแผนที่จะพัฒนาระบบ AI เพื่อช่วยตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับ ESG ให้กับบริษัทจดทะเบียน
“ตลท. ต้องการให้เกิดการลงทุนในเทคโนโลยีเพียงครั้งเดียว แต่สามารถนำไปใช้ได้ในหลากหลายงาน หลายภาคส่วน และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งองค์กรและระบบเศรษฐกิจโดยรวม” ดร.ศรพล กล่าว

สำหรับในเวทีโลก แม้ว่านโยบายของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยน
แปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลให้แผนงานด้านสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศชะลอตัวลง แต่หลายประเทศยังคงเดินหน้าผลักดันมาตรการสำคัญอย่างต่อเนื่อง เช่น มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนของสหภาพยุโรป (CBAM) การรายงานบัญชีคาร์บอน และความร่วมมือในอาเซียนด้านมาตรฐานคาร์บอน โดย ดร.ศรพล กล่าวว่า “ไม่ว่าทรัมป์จะขึ้นภาษีหรือไม่ โลกก็
ยังคงเผชิญกับภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้น
ทุกวัน”
ท้ายที่สุด ดร.ศรพล ย้ำว่า “Green Finance ไม่ได้เป็นเพียงทางเลือก แต่เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง” เนื่องจากสังคมโลกกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่ต้องมีความยั่งยืนทั้งในด้านทรัพยากร ภูมิอากาศ และความเป็นธรรม ซึ่งตลาดทุนไทยจำเป็นต้องปรับตัวทั้งในเชิงกลยุทธ์และโครงสร้าง เพื่อให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงและสามารถแข่งขันได้ในอนาคต.