สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากกรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ว่า หลังเนปาลเผชิญกับคำวิจารณ์ว่า “ออกใบอนุญาตปีนเอเวอเรสต์มากเกินไป” รวมถึงผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ จนส่งผลให้มีนักปีนเขาจำนวนมากที่แออัดกันใน “โซนแห่งความตาย” ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้ยอดเขาที่มีออกซิเจนเบาบาง นั้น

ภายใต้กฎซึ่งมีการเสนอขึ้นใหม่ ใบอนุญาตปีนเขาเอเวอเรสต์จะถูกออกให้เฉพาะนักปีนเขาที่แสดงหลักฐานว่า “มีประสบการณ์ปีนเขาที่มีความสูง 7,000 เมตรในเนปาล” อย่างน้อย 1 ลูก นอกจากนั้น ยังกำหนดให้ “ซาร์ดาร์” หรือผู้นำ และมัคคุเทศก์ต้องเป็น “พลเมืองเนปาล”

ขณะเดียวกัน นักสำรวจนานาชาติรวมตัวเรียกร้องให้เนปาลออกใบอนุญาตพิชิตเทือกเขาแห่งอื่น ๆ นอกจากหิมาลัย และเพิ่มรายการภูเขาที่มีความสูงเกือบ 7,000 เมตร ซึ่งนักปีนเขามักใช้เพื่อเตรียมตัว รวมถึงภูเขาอามา ดาบลัม อากอนกากัว เดนาลี และอื่น ๆ

ผู้นำคณะสำรวจจากออสเตรีย ให้ความเห็นว่า มัคคุเทศก์บนภูเขาจากประเทศอื่น ควรได้รับอนุญาตให้ทำงานบนเอเวอเรสต์ด้วย เนื่องจากไกด์ชาวเนปาลซึ่งมีคุณสมบัติเหมาะสมยังมีไม่เพียงพอ เพียงแค่พวกเขามีใบรับรองจากสหพันธ์สมาคมมัคคุเทศก์ภูเขานานาชาติ (ไอเอฟเอ็มจีเอ) โดยไม่คำนึงถึงสัญชาติ เหมือนกับเทือกเขาแอลป์ในยุโรป ที่ยินดีต้อนรับไกด์ชาวเนปาล

ทั้งนี้ทั้งนั้น การเปลี่ยนข้อกำหนดให้เป็น “ยอดเขาสูง 6,500 เมตร” ที่ใดก็ได้บนนโลกอาจเหมาะสมกว่า เนื่องจากประเทศแห่งนี้มียอดเขามากกว่า 400 ยอด ที่เปิดให้ขึ้นไปสำรวจได้ แต่มีเพียง 74 ยอด ซึ่งมีความสูงเกิน 7,000 เมตร และยอดเขาเหล่านี้ มักไม่เป็นที่นิยมในหมู่นักปีนเขา.

เครดิตภาพ : AFP