จากกรณีที่นายสมเกียรติ ชูแสงสุข ประธานคลินิกช่าง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ถูกแอบอ้างชื่อและปลอมลายเซ็นเป็นผู้ควบคุมงาน กิจการร่วมค้า PKW (ประกอบด้วย บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด บริษัท ว. และสหายคอลซัลแตนตส์ จำกัด และบริษัท เคพี คอนชัลแทนส์ จำกัด) ที่เป็นคู่สัญญาผู้ควบคุมงานก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. และนายสมเกียรติ ได้ไปแจ้งความที่ สน.วังทองหลาง กรณีถูกปลอมเอกสาร ปลอมลายเซ็นชื่อ ต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดยคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 32/2568 คดีนอมินี บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด ได้เชิญนายสมเกียรติ เข้าให้ข้อมูลในฐานะพยาน วันที่ 15 เม.ย. เวลา 13.30 น. ที่ ห้องประชุม กคร. หรือกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (กองคดีฮั้วประมูล) ศูนย์ราชการฯ อาคารเอ ชั้น 7 ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ตามที่มีการรายงานข่าวไปแล้วนั้น
เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 15 เม.ย. ที่ ห้องประชุม กคร. หรือกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (กองคดีฮั้วประมูล) ศูนย์ราชการฯ อาคารเอ ชั้น 7 ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เปิดเผยว่า วันนี้ตนมาพบพนักงานสอบสวน เนื่องจากตอนนี้เป็นเวลา 18 วันตั้งแต่เกิดเหตุ และจำนวนผู้เสียชีวิต 44 รายแล้ว อีกทั้งยังต้องติดตามค้นหาอีก 50 ราย อย่างไรก็ตาม คดีนี้คือความเศร้าโศก โศกนาฏกรรม มีคนเสียชีวิตจำนวนมาก ประเด็นสำคัญ คือ นอกจากดีเอสไอจะดำเนินคดีตามความผิด พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 โดยรับเป็นคดีพิเศษที่ 32/2568 แล้วนั้น ในเรื่องการประมูลงาน หรือการฮั้วประมูลและการทุจริต เราก็ต้องทำคู่ขนานและรวดเร็ว แต่ที่สำคัญคือเราต้องรู้ให้ได้ว่าเหตุใดตึกจึงถล่ม เป็นเรื่องที่ทุกคนคลางแคลงใจ ถ้ารัฐหรือดีเอสไอไม่คลี่คลายได้เร็ว ประชาชนอาจขาดความเชื่อมั่น ทำให้ช่วงเทศกาลสงกรานต์ พนักงานสอบสวนก็เร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ สำหรับกรณีของกรรมาธิการฯ พบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับบริษัทควบคุมงาน แล้วมีชื่อวิศวกรที่ถูกระบุว่าเป็นผู้ควบคุมงาน คือ นายสมเกียรติ ชูแสงสุข ดังนั้น เอกสารดังกล่าว กรรมาธิการ โดยชุดของนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ประธานคณะกรรมาธิการติดตามงบประมาณฯ ได้รับจาก สตง. ไปชี้แจง ซึ่งมีประจักษ์พยานที่ได้ร่วมชี้แจงด้วย คือ รองอธิบดีดีเอสไอ โดยเอกสารที่ระบุว่าควบคุมงานนั้นมีชื่อวิศวกร “นายสมเกียรติ” ซึ่งพอชื่อปรากฏก็พบว่ามีคนปลอมลายเซ็น ทำให้นายสมเกียรติ ได้มาให้การในฐานะพยาน แล้วก็จะเซ็นว่าลายเซ็นที่แท้จริงคืออะไร ซึ่งเราจะต้องเอาเอาลายเซ็นเก่าไปเร่งตรวจพิสูจน์กับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม หมายความว่าถ้าลายเซ็นผู้คุมงานไม่ได้เป็นเช่นนั้น มันก็จะเป็นพิรุธส่วนหนึ่งได้ว่ามีการควบคุมงานจริงหรือไม่ และเป็นการควบคุมงานโดยใคร เพราะในเมื่อวิศวกรผู้ควบคุมงานได้ปฏิเสธว่าไม่ใช่ลายเซ็นของเขา
พ.ต.อ.ทวี เผยอีกว่า ปกติเวลางานของราชการจะสร้างอะไร ราชการจะต้องเป็นผู้ออกแบบ โดยจะส่งไปที่กรมโยธาธิการและผังเมือง หรือกรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบ แต่ในกรณีของ สตง. ทั้งสองหน่วยราชการไม่ได้เป็นผู้ออกแบบ แต่ก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดปกติ เนื่องจากได้มีการถามผู้ปฏิบัติงานของกรมโยธาธิการและผังเมืองแล้วว่า เหตุใดกรมโยธาธิการฯ จึงไม่ออกแบบให้ ซึ่งอยู่ในงบ 2,000 กว่าล้าน โดยกรมโยธาฯ ได้แจ้งว่า ที่ขอมาขอให้มีการเร่งออกแบบภายใน 180 วัน เมื่อออกแบบไม่ทัน ก็เป็นสิทธิ์ที่หน่วยงานที่จะสร้าง สามารถไปจ้างผู้ออกแบบ ซึ่งผู้ออกแบบก็ต้องเป็นวิศวกร ขณะนี้จึงพบว่ารายชื่อผู้ออกแบบที่เซ็น มีอายุ 85 ปี ซึ่งพนักงานสอบสวนจะต้องไปรวบรวมพยานหลักฐานโดยเร็ว และที่สำคัญเรื่องนี้คือเรื่องวิชาชีพในระบบราชการ ซึ่งเรามีสภาวิศวกร ที่มีเงินงบประมาณไปอุดหนุน ก็ขอให้พนักงานสอบสวนได้พึ่งผู้เชี่ยวชาญที่นี่ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญของศาลด้วย สิ่งที่อยากจะให้ช่วยคลี่คลาย อย่างน้อยแม้จะผิดกฎหมายอาญาหลายกฎหมายก็ตาม แต่ต้องมีคำตอบว่าเหตุใดตึกจึงถล่ม และทรุดลงมาทั้งหมด
พ.ต.อ.ทวี เผยต่อว่า สำหรับข้อกล่าวหาที่นายสมเกียรติได้แจ้งดำเนินคดีนั้น คือ ข้อหาปลอมแปลงเอกสาร โดยมีการปลอมลายเซ็น สำหรับในวันพรุ่งนี้ (16 เม.ย.) เนื่องด้วยคดีดังกล่าวดีเอสไอรับผิดชอบดำเนินการอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่ต้องมีการเก็บหลักฐานในที่เกิดเหตุ ดังนั้น ตนอาจเดินทางไปให้กำลังในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ เพราะมันต้องเอาประเด็นมาใช้ในการวินิจฉัยในคดี แต่ต้องนำเรื่องเข้าสู่ชั้นศาล ที่เกิดเหตุจึงมีความสำคัญ

ด้าน นายสมเกียรติ ชูแสงสุข ประธานคลินิกช่าง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ยืนยันว่า ตนไม่ได้เป็นผู้ควบคุมงาน และถูกปลอมลายเซ็น พร้อมขอให้สังคมเข้าใจว่าตนคือผู้เสียหายที่ถูกแอบอ้างชื่อ และได้ให้ข้อมูลกับ สน.วังทองหลาง และ สน.บางซื่อ ในฐานะพยานแล้ว ส่วนเรื่องการปลอมลายเซ็นยังอยู่ระหว่างการสืบสวน
นายสมเกียรติ ยังปฏิเสธว่าไม่รู้จักกับนายปฏิวัติ ผู้ลงนามในกิจการร่วมค้า PKW และขอไม่ตอบในรายละเอียดความสัมพันธ์กับบุคคลจากกิจการร่วมค้าดังกล่าว แต่ยืนยันว่าเอกสารที่มีลายเซ็นตนนั้นเป็นของปลอม และตนไม่ได้ประกอบอาชีพควบคุมงานมานานกว่า 20 ปีแล้ว พร้อมฝากถึงเจ้าของงานให้ตรวจสอบใบรับรองวิศวกรควบคู่กับใบประกอบวิชาชีพ เพื่อป้องกันการถูกแอบอ้างชื่อ
ด้าน ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า สำหรับการขอข้อมูลจากนายสมเกียรติในวันนี้ จะถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งในคดีที่ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษไปก่อนหน้านี้ คือ คดีนอมินี (คดีพิเศษที่ 32/2568) ซึ่งมันสามารถเชื่อมโยงไปได้ทั้งหมด ทั้งการทำงานของบริษัทสัญชาติใดบ้าง ค่อนข้างจะเป็นประโยชน์ในภาพรวม ส่วนดีเอสไอจะต้องเชิญผู้แทนของกิจการร่วมค้า PKW มาสอบถามด้วยหรือไม่นั้น ยืนยันว่า อยู่ในขั้นตอนทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ ตั้งแต่การออกแบบจนสุดทาง ว่าเกี่ยวข้องส่วนใด เราจะทำเป็นองค์ภาพรวม ว่ารายละเอียดมันเกิดขึ้นเพราะอะไร จะได้มีการค้นหาความจริงแล้วจะได้กำหนดขั้นตอนต่อไปได้ ส่วนนายสมเกียรติ จะเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ที่จะช่วยเชื่อมเรื่องราวรายละเอียดทั้งหมด
ทั้งนี้ หากดูจากพฤติการณ์ที่นายสมเกียรติ ถูกแอบอ้างชื่อและถูกปลอมลายเซ็น จะพิจารณาฐานความผิดใดได้บ้าง แล้วดีเอสไอหรือทางพนักงานสอบสวนตำรวจที่จะเป็นผู้รับผิดชอบหลักในเรื่องนี้นั้น เบื้องต้นเราเป็นการทำงานบูรณาการร่วมกันกับทางตำรวจ ซึ่งในที่เกิดเหตุเรื่องชันสูตรทั้งหมดจะเป็นหน้าที่ของทางตำรวจ ส่วนเรื่องตึก สตง.ถล่ม แล้วเกิดคดีอาญา ยังไม่มี แต่ดีเอสไอจะทำในเรื่องของภาพรวม เพราะเป็นเรื่องสำคัญและเป็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กระทบต่อศีลธรรมอันดีค่อนข้างกว้าง ดีเอสไอจึงต้องทำภาพรวมทั้งหมด ซึ่งมันจะเป็นจิ๊กซอว์ไปขยายผลดูได้ว่าจะเจอฐานความผิดใดบ้าง อาทิ หากเป็นการปลอมแปลงเอกสาร แล้วการปลอมเอกสารดังกล่าวเป็นสาเหตุของการทำเรื่องหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบหรือการควบคุมงาน ตรงนี้ต้องขอเวลาให้พนักงานสอบสวนได้พิสูจน์ข้อเท็จจริงต่อไป ซึ่งเราจะทำควบคู่กับคดีนอมินี ตำรวจและเราทำอะไรก็ส่งแลกเปลี่ยนข้อมูลแลกเปลี่ยนระหว่างกันต่อเนื่อง
สำหรับการตรวจสอบย้อนหลังว่ากิจการร่วมค้า PKW ได้มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการนำชื่อผู้คุมงาน ปลอมแปลงรายชื่อ ปลอมแปลงลายเซ็นกับโครงการอื่นอีกหรือไม่นั้น ร.ต.อ.สุรวุฒิ เผยอีกว่า เบื้องต้นยังไม่มีเช่นนั้น ตอนนี้เราดูข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป ซึ่งพอเรื่องนี้มันปรากฏข้อเท็จจริง เราก็ต้องไปสืบสวน หากท้ายสุดปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เราก็แจ้งให้ทราบ ซึ่งมันต้องขยายอยู่แล้ว แต่ในตอนนี้ยังไม่พบข้อมูลลักษณะดังกล่าว
ร.ต.อ.สุรวุฒิ กล่าวด้วยว่า ส่วนความคืบหน้าการติดตาม 3 กรรมการผู้ถือหุ้นชาวไทย บ.ไชน่า เรลเวย์ฯ ขณะนี้นี้ดีเอสไอยังคงอยู่ระหว่างติดตาม ยังไม่เจอตัว แต่ก็ได้มีการสอบปากคำพยานแวดล้อม ซึ่งเป็นญาติของพวกเขา ได้รายละเอียดเบื้องต้นมาพอสมควรแล้ว ซึ่งถ้าหากเส้นทางการเงินที่ดีเอสไอได้ประสานขอไปยังสถาบันการเงินมีความชัดเจนว่ามีรายละเอียดเกี่ยวกับการชำระค่าหุ้น ถ้าตรงนี้มันครบถ้วนก็คงไม่จำเป็นต้องรอ ซึ่งเส้นทางการเงินที่ขอไปกับทางธนาคาร ดีเอสไอขอย้อนไทม์ไลน์ไปตั้งแต่ช่วงมีการก่อตั้งบริษัท เพราะมันจะมีความชัดเจนว่าพวกเขาถือหุ้นแทนใคร
ส่วน พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า สำหรับกรณีคดีฝุ่นแดง ซึ่งทางสำนักงานผลิตภัณฑ์มาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) ได้มีหนังสือสอบถามมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้ร่วมสืบสวนนั้น ตอนนี้กระบวนการอยู่ระหว่างเสนออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เนื่องจากหนังสือเพิ่งเข้ามาถึงหน่วยธุรการทางคดีเมื่อวันที่ 12 เม.ย. ส่วนประเด็นเรื่องเหล็กไม่ได้คุณภาพ ทาง สมอ. ได้เข้าเก็บหลักฐานร่วมกับดีเอสไอ ตอนนี้อยู่ระหว่างตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ หากพบว่ามีมูลความผิดว่าเป็นเหล็กตกมาตรฐาน แล้วเป็นเหล็กที่ใช้ในการก่อสร้างของที่ใด ก็จะมากล่าวโทษดำเนินคดีเพิ่มเติม ส่วนจะต้องแยกเป็นเลขคดีพิเศษคนละสำนวนกับคดีนอมินีหรือสามารถรวมเป็นเลขคดีเดียวกันได้นั้น คงต้องดูรายละเอียดก่อน ซึ่งจะต้องดูองค์ประกอบความผิดกับผู้กระทำความผิด ถ้าอยู่ในกลุ่มเดียวกันแล้วพฤติกรรมไปด้วยกัน ก็สามารถรวมเป็นเลขคดีเดียวกันได้