สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 15 เม.ย. ว่า การเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงการบริหาร แนวทางการจ้างงาน และขั้นตอนรับสมัครนักศึกษา ถือเป็นการขยายรายการ ซึ่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้รับเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ที่มีคำสั่งให้ปิดสำนักงานความหลากหลาย และให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ในการคัดกรองนักศึกษาต่างชาติ

นายอลัน การ์เบอร์ ประธานกรรมาธิการมหาวิทยาลัย ให้คำมั่นในจดหมายถึงนักศึกษาและคณาจารย์ว่า “จะท้าทายรัฐบาล” และยืนกรานว่า มหาวิทยาลัยจะไม่เจรจาเกี่ยวกับความเป็นอิสระ หรือสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่มีอยู่แล้ว

คณะทำงานพิเศษเพื่อขจัดการต่อต้านชาวยิวของทรัมป์ ตอบโต้ด้วยแถลงการณ์ประกาศระงับเงินทุนช่วยเหลือ 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 73,708 ล้านบาท) เป็นระยะเวลาหลายปี รวมถึงการระงับสัญญาของรัฐบาลมูลค่า 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2,010 ล้านบาท)

“การหยุดชะงักของการเรียนรู้ ซึ่งก่อกวนวิทยาเขตในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้น เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ การคุกคามนักศึกษาชาวยิวเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ถึงเวลาแล้ว ที่มหาวิทยาลัยชั้นนำจะต้องนำปัญหานี้มาพิจารณาอย่างจริงจัง และมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลง หากต้องการการสนับสนุนจากผู้เสียภาษีต่อไป” รายงานของรัฐบาลระบุ

การ์เบอร์ยืนกรานว่า “ฮาร์วาร์ดเปิดรับข้อมูลใหม่ และมุมมองที่แตกต่าง” แต่จะไม่เห็นด้วย กับข้อเรียกร้องที่เกินขอบเขตอำนาจตามกฎหมายของฝ่ายบริหารนี้ หรือฝ่ายบริหารใด ๆ และรัฐบาลไม่ควรกำหนดว่ามหาวิทยาลัย “สามารถสอนอะไร รับหรือจ้างใคร และต้องศึกษาค้นคว้าในสาขาใด”

จุดยืนดังกล่าวถือว่า “ตรงกันข้าม” กับมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการประท้วงสนับสนุนชาวปาเลสไตน์เมื่อปีที่แล้ว ที่ยอมตกลงปฏิรูปขั้นตอนการลงโทษนักศึกษา ตามแนวทางของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และจ้างเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความปลอดภัยเพิ่มอีก 36 คน.

เครดิตภาพ : AFP