ในช่วงเดือนมีนาคม ปี 2025 ‘ตลาดตราสารหนี้ ESG’ (Environmental, Social, and Governance) ในหลายประเทศต่างมีทิศทางที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับบริบททางเศรษฐกิจและนโยบายของภาครัฐ โดยจีนยังคงเดินหน้าขยายตลาดอย่างต่อเนื่อง สหรัฐฯ เผชิญแรงกดดันจากท่าทีต่อต้าน ESG ของรัฐบาล ขณะที่ไทยเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวจากการสนับสนุนของรัฐและความเชื่อมั่นที่เริ่มกลับมา
ตลาดตราสารหนี้ ESG ของจีนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จีนสามารถออกตราสารหนี้ ESG ใหม่ได้ถึง 7.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งราวครึ่งหนึ่งมาจากภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้ยอดคงค้างตราสารหนี้ ESG ของจีนแตะระดับ 295.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้ตลาดในระดับสากล รัฐบาลจีนจึงได้ประกาศแผนการออก ‘Green Bond’ สกุลเงินหยวนรุ่นแรกในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน พร้อมตั้งเป้าระดมทุนกว่า 0.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำไปใช้ในโครงการที่สนับสนุนการลดการปล่อยคาร์บอนภายใต้กรอบ Sovereign Green Bond Framework ฉบับใหม่ของประเทศ
ในทางกลับกัน สหรัฐฯ ยังคงเผชิญกับแรงกดดันจากนโยบายของประธานาธิบดี ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ที่แสดงจุดยืนต่อต้านแนวทาง ESG และเดินหน้าใช้นโยบายขึ้นภาษีการค้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและภาพรวมของเศรษฐกิจ การออกตราสารหนี้ ESG ใหม่ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จึงอยู่ที่เพียง 0.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งลดลงกว่า 10 เท่าเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันในปี 2024 ที่มีมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังคงต่ำกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐติดต่อกันเป็นเดือนที่สาม ยอดคงค้างตราสารหนี้ ESG ในสหรัฐฯ อยู่ที่ 280.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ฝั่งประเทศไทย แม้ยอดคงค้างตราสารหนี้ ESG จะทรงตัวอยู่ที่ 25.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทว่ามีปัจจัยบวกที่เริ่มส่งผลดีต่อทิศทางตลาดในอนาคต โดยเฉพาะการจัดตั้งกองทุน Thai ESGX ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2025 โดยกองทุนดังกล่าวจะเน้นลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ของบริษัทที่ผ่านเกณฑ์การประเมิน ESG ไม่ต่ำกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) นอกจากนี้ ตลาดยังเริ่มฟื้นความเชื่อมั่นจากการที่ไม่มีรายงานการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มเติมของบริษัทขนาดใหญ่ ประกอบกับคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง ซึ่งช่วยลดต้นทุนการออกตราสารหนี้ ส่งผลให้มีแนวโน้มที่ตลาดตราสารหนี้ทั่วไปและตราสารหนี้ ESG จะเริ่มขยายตัวได้ในระยะถัดไป
สำหรับแนวโน้มในระยะข้างหน้า ‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ ประเมินว่า ตลาดตราสารหนี้ ESG ของจีนและไทยจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากแรงหนุนด้านนโยบายภาครัฐและความพยายามลดการปล่อยคาร์บอน ขณะที่สหรัฐฯ ยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวต่อ เนื่องจากนโยบายที่ไม่สนับสนุน ESG และความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดตราสารหนี้ ESG ของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะซบเซา และอาจต้องใช้เวลาฟื้นตัวอีกระยะหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ไทยอาจต้องจับตาผลกระทบจากมาตรการภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ที่สหรัฐฯ อาจนำมาใช้ ซึ่งอาจกระทบต่อการระดมทุนในโครงการใหม่ในช่วงสั้น ทั้งนี้ ความชัดเจนของนโยบายรัฐบาลไทยและการเจรจาระหว่างประเทศจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางตลาด ESG ในภูมิภาคนี้ต่อไป