ย้อนหลังไปสมัยวิกฤติต้มยำกุ้ง เมื่อปี 2540 ต้นเหตุใหญ่เกิดจากการขาด “ธรรมาภิบาล” ซึ่งเป็นรากฐานของระบบเศรษฐกิจ และการไม่ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลก ตอนนั้นเราขาด “ภูมิคุ้มกัน”
หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจในครั้งนั้น เราได้ฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของเราขึ้นมาใหม่ด้วย “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ภาคธุรกิจปรับปรุงระบบธรรมาภิบาลใหม่ โดยเน้น Corporate Governance (CG) ให้ได้มาตรฐานสากล แล้วตั้งเป้าหมายทางเศรษฐกิจใหม่ให้พอดี ไม่เกินตัว ถึงแม้จะ
ไม่ขยายตัวแบบก้าวกระโดด แต่ลดความเสี่ยง เพิ่มภูมิคุ้มกัน สร้างรากฐานใหม่ที่แข็งแรงกว่าเดิม เราหันมาพึ่งพาตัวเอง เพราะความเสี่ยงในการพึ่งพาคนอื่นควบคุมไม่ได้ และที่สำคัญเราเอาจริงเอาจังในการสร้างสมดุลใหม่ของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

28 ปีผ่านไป เราอาจจะลืมบรรยากาศช่วงนั้นไปแล้ว ผู้บริหารยุคนั้นน่าจะเกษียณไปแล้ว นักบริหารรุ่นใหม่ยังโตไม่ทัน เมื่อเวลาผ่านไประบบธรรมาภิบาลของเราเริ่มหย่อนยาน เกิดปัญหาทั้งภาครัฐ และเอกชน หลายเรื่องมาจากปัจจัยทางการเมือง และรัฐธรรมนูญ แต่ที่สำคัญกว่านั้นโลกของเรากำลังปรับสมดุลใหม่ ที่เราไม่เคยเจอมาก่อน
แผ่นดินไหวส่งสัญญาณเตือนเรื่องความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อม การประกาศภาษี Trump ส่งสัญญาณเตือนเรื่องพายุเศรษฐกิจ วิกฤติทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมกำลังสะสมปัญหาทางสังคม ที่เราเริ่มเห็นสัญญาณความขัดแย้งมากมาย การเดินขบวนประท้วงทั่วโลก บางแห่งอาจจะลุกลามเป็นสงคราม
เมื่อโลกกำลังเขย่าเราครั้งใหญ่ ทำ ให้เราหวนคิดถึงความสำคัญของ “ความ พอเพียง” ที่ช่วยเราผ่านความหายนะมาแล้วทุกยุคทุกสมัย ถึงเวลาหรือยังที่เราจะสู้วิกฤติด้วย “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เมื่อไรรัฐบาลจะกำหนดให้ “ความพอเพียง พอดี พึ่งพาตัวเอง” เป็นยุทธศาสตร์เร่งด่วนในการกู้วิกฤติครั้งนี้ มีหน่วยงานราชการมากมายที่ทำเรื่องนี้ ตั้งแต่สภาพัฒน์ จนถึงศูนย์เรียนรู้ต่าง ๆ ของรัฐที่ตั้งทิ้งไว้ ถึงเวลารวมพลัง รวมพล คนพอเพียง และเรารีบทำได้ทันที ไม่ต้องรอตั้งทีมเจรจา และที่สำคัญจะสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนได้ดีกว่ายุทธศาสตร์ กาสิโน.
