เพราะมีองค์ประกอบหลากหลายด้านที่มีความน่าสนใจ ทั้งด้านวัฒนธรรม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม จึงถือเป็นหัวใจสำคัญต่อการพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวเข้าสู่สากล รางวัลที่ Green Destinations Foundation จัดขึ้นเพื่อมอบรางวัลให้แก่แหล่งท่องเที่ยวที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ พร้อมสร้างแรงบันดาลใจสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ทั้งเป็นต้นแบบด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน จากการบริหารจัดการที่ส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงบริบทด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

เมืองเก่าน่านครอบคลุมพื้นที่ ต.ในเวียง อ.เมือง จ.น่าน เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนน่าน มี“วัดภูมินทร์” เป็นหนึ่งในแลนด์มาร์กสำคัญ ไม่ใช่เพราะภาพจิตรกรรมฝาผนัง “ปู่ม่านย่าม่าน” เจ้าของนิยามกระซิบรักบันลือโลกเท่านั้น แต่ยังมีสิ่งก่อสร้างอันทรงคุณค่าอย่างพระอุโบสถทรงจตุรมุขหนึ่งเดียวในประเทศไทยที่มีนาคสะดุ้งตัวใหญ่ 2 ตัวเทินพระอุโบสถไว้ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย 4 องค์ หันหน้าออกสู่ประตูทั้งสี่ทิศ บานประตูแกะสลักทั้งสี่ทิศเป็นไม้สักทองแผ่นเดียว หนาราว 4 นิ้ว แกะเป็นลวดลายพรรณพฤกษา เครือเถา ดอก ใบ เกาะเกี่ยวกันอย่างอ่อนช้อย ฝีมือสกุลช่างเมืองน่าน ภาพจิตรกรรมสันนิษฐานว่าวาดขึ้นในสมัยพระเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เมื่อครั้งบูรณะครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2410 โดยบอกเล่าชาดกในพุทธศาสนา แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ชาดก วิถีชีวิตความเป็นอยู่ และตำนานพื้นบ้านของชาวเมืองน่าน

ทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 17.00-22.00 น. ลานกว้างที่อยู่ด้านหน้าของวัด จะแปลงร่างเป็น “ถนนคนเดินกาดข่วงเมืองน่าน” มีอาหารคาวหวานหลากหลายให้ได้เลือกซื้อ มีเสื้อผ้าพื้นเมือง และของที่ระลึกให้ซื้อหาเป็นของฝาก พื้นที่บริเวณข่วงทั้ง 2 ฝั่ง ซึ่งมีชื่อเรียกว่า ข่วงเมืองน่าน และข่วงน้อย จัดวางขันโตกให้นักท่องเที่ยวนั่งรับประทานอาหารหลังเดินเลือกซื้อจนพอใจ มีเสียงบรรเลงดนตรีโฟล์คซองพื้นเมืองไว้คอยขับกล่อม มีการบริหารจัดการคัดแยกขยะอย่างเป็นระบบ ถือเป็นต้นแบบของการจัด Green Event ในพื้นที่ ตั้งแต่ต้นทาง นำไปสู่ปลายทาง โดยได้รับความร่วมมือจากเทศบาล เจ้าหน้าที่ และชุมชนร่วมคัดแยก

เยื้องกันฝั่งตรงข้ามคือ “วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร” เอกลักษณ์สำคัญคือ เจดีย์ทรงลังกา มีฐานรอบองค์ปั้นเป็นรูปช้างครึ่งตัว ด้านละ 5 เชือก และที่มุมทั้งสี่อีก 4 เชือก คล้ายเอาหลังหนุนหรือ“ค้ำ” องค์พระเจดีย์ไว้ ลักษณะคล้ายวัดช้างล้อม จังหวัดสุโขทัย สร้างขึ้นในสมัยเจ้าปู่แข็ง พ.ศ. 1949 เป็นวัดหลวงในเขตนครน่าน สำหรับเจ้าผู้ครองนครใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีสำคัญทางพุทธศาสนาและพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางประทานอภัย สูง 1.45 เมตร มีอายุราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 19 ตรงกับสมัยสุโขทัยตอนปลาย พระประธานเป็นปูนปั้นขนาดใหญ่ ศิลปะเชียงแสน ฝีมือสกุลช่างน่านที่มีพุทธลักษณะงดงาม

อีกฝั่งของวัดพระธาตุช้างค้ำคือ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน” อาคารแบบยุโรปสีขาวซึ่งเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 5 ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองน่านนี้ คือสถานที่บรรจุสมบัติล้ำค่าอันเป็นมรดกตกทอดของน่านจากอดีตสู่ปัจจุบัน เดิมเป็น “หอคำ” ที่ประทับและว่าราชการของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่าน ก่อนจะถูกใช้เป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดแห่งแรกของจังหวัดน่าน

ภายในพิพิธภัณฑ์แบ่งออกเป็นสองชั้น ชั้นล่างเป็นที่จัดแสดงชีวิตความเป็นอยู่ของชนเผ่าต่าง ๆ ในจังหวัดน่าน รวมทั้งเทศกาลงานประเพณีที่สำคัญ เช่น การสืบชะตา การแข่งเรือ ชั้นบนจัดแสดงโบราณวัตถุสมัยต่าง ๆ ที่พบในจังหวัดน่าน ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุคเจ้าผู้ครองนครน่าน โดยมีโบราณวัตถุที่ควรค่าแก่การชมอย่าง “งาช้างดำ” งาช้างข้างซ้าย ยาว 94 เซนติเมตร วัตถุมงคลคู่บ้านคู่เมืองน่าน ได้มาในสมัยพระยาการเมือง เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 5 นอกจากนี้ยังมีเครื่องปั้นดินเผาเคลือบ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 จากเตาเผาบ่อสวก พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา อิทธิพลศิลปะพม่า พุทธศตวรรษที่ 25 พานพระศรีเครื่องเงินลงยา เครื่องประกอบอิสริยยศของเจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้าย รวมถึงอันซีน “วัดน้อย” วัดที่เล็กที่สุดในเมืองไทย ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงมีพระราชกรุณาให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นการรักษาสัจจวาจาของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช พระเจ้านครเมืองน่านในเวลานั้น

ไม่ไกลกันบนถนนสุริยพงษ์ เป็นที่ตั้งของ “วัดมิ่งเมือง” ศาลาจตุรมุขด้านหน้าพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานเสาหลักเมืองของจังหวัดน่าน สูง 3 เมตร ฐานประดับด้วยไม้แกะลวดลายลงรักปิดทอง ยอดเสาแกะสลักเป็นรูปพรหมพักตร์ มีชื่อว่าเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เดิมวัดแห่งนี้เป็นวัดร้าง สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. 2400 มีการพบเสาหลักเมืองที่เป็นท่อนซุงขนาดใหญ่สองคนโอบที่ซากวิหาร เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่านได้สถาปนาวัดขึ้นใหม่ และตั้งชื่อวัดตามชื่อที่เรียกเสาหลักเมือง “เสามิ่งเมือง” ส่วนพระอุโบสถหลังใหม่เป็นแบบล้านนาร่วมสมัยแบบในปัจจุบัน ลวดลายปูนปั้นที่ผนังด้านนอกเป็นฝีมือตระกูลช่างเชียงแสน ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในแสดงให้เห็นวิถีชีวิตของชาวเมืองน่าน ฝีมือช่างท้องถิ่นยุคปัจจุบัน

The Noble House, Nan

ตระเวนวัดจนทั่วแล้วอย่าลืมออกไป “โฮงเจ้าฟองคำ” อาคารเรือนไม้สักใต้ถุนสูง อายุเกือบ 200 ปี สถาปัตยกรรมล้านนาแบบเรือนคู่ มีนอกชานและหลังคาคลุมบันไดทางขึ้นบ้าน บริเวณโดยรอบร่มรื่นด้วยต้นไม้ พื้นที่ชั้นบนเป็นที่พักอาศัยและพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น จัดแสดงวิถีชีวิตในอดีตและแสดงของโบราณที่มีคุณค่า เช่น เครื่องเรือน เครื่องใช้ เครื่องเงิน ผ้าทอ พื้นที่ชั้นล่างเป็นใต้ถุนโล่ง เปิดให้เป็นพื้นที่สาธิตการทอผ้า การปั่นฝ้าย การปักผ้าหน้าหมอน เป็นต้น โฮงเจ้าฟองคำได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประเภทบ้านพักอาศัย (คุ้มเจ้า) ปี 2555 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เดิมเป็นคุ้มของเจ้าศรีตุมมา ตั้งอยู่ติดกับคุ้มแก้วซึ่งเป็นที่พำนักของเจ้าผู้ครองนครน่านในเวียงเหนือ เมื่อ เจ้าอนันตวรฤทธิเดช ย้ายกลับมายังเมืองน่าน ปัจจุบันคุ้มแก้วถูกทิ้งร้างไป หลังจากนั้นเป็นเจ้าบุญยืน (ธิดาองค์สุดท้ายของเจ้าศรีตุมมากับเจ้ามโน) ได้ย้ายตัวโฮงลงมาสร้างในที่ปัจจุบัน และตกทอดมายังเจ้าฟองคำ

หากไม่อยากขับรถเที่ยวเอง สามารถใช้บริการ“นั่งรถรางรอบตัวเมืองน่าน” โดยเริ่มต้นและสิ้นสุดการเดินทางที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวเทศบาลเมืองน่าน เส้นทางรถรางเมืองเก่าน่านจะพาไปยังวัดมิ่งเมือง วัดศรีพันต้น วัดไผ่เหลือง วัดหัวข่วง กำแพงเมือง วัดสวนตาล วัดอรัญญาวาส ตึกรังษีเกษม วัดหัวเวียงใต้ ศาลเจ้าปุงเถ่ากง วัดกู่คำ วัดพระธาตุช้างค้ำ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน ค่าบริการบุคคลทั่วไป 30 บาท เด็ก (อายุไม่เกิน 12 ปี) และผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) 15 บาท ใช้เวลาเดินทาง 1 ชั่วโมง แวะจอดแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน 2 จุด จุด ละ 10 นาทีโดยมีเจ้าหน้าที่บรรยายบนรถรางตลอดเส้นทาง

ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานน่าน ชวนเที่ยว “สงกรานต์น่าน นันทบุรี สุขสะหรีปีใหม่เมือง 2568” สืบสานประเพณีโบราณ สรงน้ำพระเจ้าทองทิพย์ วัดสวนตาล พระสิงห์น่าน วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร และพระหลักเมืองน่าน วัดมิ่งเมือง เสริมสิริมงคล สัมผัสเสน่ห์ล้านนา ชมประเพณี วัฒนธรรม การประชันสะโป้ก การประชันกลองแอว และการแสดงกลองปูจา ขบวนแห่พระเจ้าแวดเวียง และไปสนุกสุดขีดที่ถนนข้าวแต๋น วันที่ 11-16 เมษายน 2568 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป

ร้อนนี้ ททท.สำนักงานน่าน ชวนร่วมกิจกรรม “SUMMER ม่วน จวนแอ่วน่าน” เที่ยวน่านให้ม่วนอ๊ก ม่วนใจ๋ พร้อมรับกระเป๋ากันน้ำสุดเท่ ทำตาม 3 ขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้ โพสต์รูปคุณที่ถ่ายคู่กับแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำของจังหวัดน่านผ่านทาง Facebook สะสมหลักฐานยอดค่าใช้จ่ายสินค้า และบริการด้านการท่องเที่ยวน่านที่กำหนด ได้แก่ ที่พัก ร้านอาหาร คาเฟ่ ร้านของฝาก สปา บริษัทนำเที่ยว รถเช่า ตั้งแต่ 1,500 บาทขึ้นไป โดยต้องเป็นค่าใช้จ่ายเฉพาะวันจันทร์-ศุกร์ ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ และส่งหลักฐานการร่วมกิจกรรมมาทาง Line Official : @tat.nan ตั้งแต่วันนี้-30 มิถุนายน 2568 หรือจนกว่าของที่ระลึกจะหมด สอบถามเพิ่มเติม ททท.สำนักงานน่าน โทร. 0-5471-1217 หรือติดตามที่ Facebook Page : ททท.สำนักงานน่าน