นอกจากคุณค่าอาหาร บางชนิดอุดมด้วยวิตามิน สารต้านอนุมูลอิสระ ยังมีความโดดเด่นของสีสัน รสชาติ นำมาปรุงอาหาร รวมถึงในมิติการปลูก การเพิ่มผลผลิต ทั้งนี้ชวนรู้จักดอกไม้กินได้ที่มีมากกว่าความสวยงาม ชวนค้นประโยชน์ รสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ “บีโกเนีย” หนึ่งในดอกไม้กินได้ติดลิสต์ลำดับต้นที่นิยม

พาตามรอยการศึกษาการเพิ่มศักยภาพ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตพืช ศึกษาข้อมูลสาระสำคัญที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพโดย ดร.อาทิตย์ พงษ์ทิพย์ อาจารย์ประจำคณะนวัตกรรมเกษตร วิทยาลัยนวัตกรรมเกษตรและเทคโนโลยีอาหาร มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความรู้ เล่าถึงการศึกษาวิจัยดอกไม้กินได้ ศึกษาบีโกเนีย

“ดอกไม้กินได้เป็นที่รู้จักและยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่อง แต่เดิมอาหารพืชผัก ผลไม้ต่างๆที่นำมารับประทานเป็นไปเพื่อความอิ่มท้องเพื่อมีพละกำลัง ต่อมาให้ความสนใจในด้านโภชนาการ สารอาหาร ขณะที่ความสวยงาม การเพิ่มมูล การเป็นจุดหมายเช็กอิน ถ่ายรูปโพสต์แชร์ในโซเชียล ฯลฯ โดยมีการนำดอกไม้มาจัดจาน ตกแต่งอาหาร เค้ก หรือผสมผสานในเครื่องดื่ม

ดอกไม้ได้เข้ามาเพิ่มเสน่ห์ เติมสีสัน ทั้งนี้ ดอกไม้มีความพิเศษ มีเสน่ห์ทั้งในเรื่องกลิ่นที่หอม สีสันความสวยงามของกลีบดอก รูปทรง ซึ่งทำให้ชื่อของดอกไม้กินได้ Edible Flower คุ้นเคยกันเรื่อยมาโดยดอกไม้กินได้มีความหลากหลาย ทั้งซ่อนเรื่องน่าศึกษาหลายมิติ” 

อาจารย์ประจำคณะนวัตกรรมเกษตร วิทยาลัยนวัตกรรมเกษตรและเทคโนโลยีอาหาร ดร.อาทิตย์อธิบายอีกว่า การศึกษาดอกไม้กินได้ครั้งนี้เป็นโปรเจคพิเศษที่ทางคณะทำงานร่วมกับนักศึกษาซึ่งมีไอเดียมีความสนใจในเรื่องนี้ มีความตั้งใจศึกษาเชิงลึกที่นอกเหนือไปจากการกินได้ ศึกษาประโยชน์ในด้านต่างๆ

“ บิโกเนีย ดอกไม้กินได้ติดลิสต์ ที่มักถูกกล่าวถึง โปรเจคครั้งนี้จากที่กล่าวมีที่มาจากความสนใจของนักศึกษาของเราที่มองเห็นประโยชน์ดอกไม้กินได้ ในมิติที่ต่อยอดต่อ ทั้งในด้านธุรกิจเกษตร สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดต่อไปได้ที่นอกจากการนำดอกไม้มาตกแต่ง นำมารับประทาน อย่างเช่น การพัฒนาเครื่องปลูก ทั้งเชื่อมโยงไปในเรื่องของพื้นที่ปลูก อย่างเช่น กรณีที่มีพื้นที่จำกัด ได้รับแสงน้อย สามารถดีไซน์การปลูก ออกแบบชุดปลูกที่เหมาะสม ชุดปลูกสำหรับครอบครัว เพื่อการปลูกที่สวยงาม มีดอกไม้สวยๆให้ชม ทั้งมีผลผลิตสดใหม่ ปลอดภัยไว้รับประทาน หรือจะเก็บขาย สร้างรายได้เพิ่ม ฯลฯ ”

ส่วนที่เลือกศึกษาทำไมต้องเป็นบีโกเนีย ดร.อาทิตย์ กล่าวอีกว่า ดอกไม้กินได้ในช่วงหลายปีที่คุ้นเคยกัน มีหลายชนิด ในมิติที่กินได้ จากการศึกษาข้อมูล การกินได้จะมีองค์ประกอบหลักๆ ความสวย  สีสัน จะสังเกตเห็นว่าดอกไม้กินได้ มีสีสันโดดเด่น ทั้งความสดใสของสีเหลือง สีแดง สีชมพู สีม่วง รวมทั้งสีขาว ฯลฯ   

ต่อมามองถึง รสชาติ รสที่กินได้ โดยถ้ามีความฝาดมากเกินไปก็ไม่เป็นที่นิยม ดอกไม้กินได้ที่นิยม มีทั้งที่ให้รสเปรี้ยว หรืออมเปรี้ยวเบา ๆหรือมีความหวานละมุน ให้ความสดชื่น ทั้งเพิ่มเสน่ห์ให้กับอาหารและเครื่องดื่ม และสุดท้าย  กลิ่น โดยกลิ่นจะช่วยเสริม เพิ่มเสน่ห์ให้อาหารและเครื่องดื่ม เมื่อนำมาจัดวางหรือใส่ลงไป อย่างเช่น คาโมมายล์  ก็เป็นที่นิยม เป็นดอกไม้สีขาวที่แม้ไม่มีสีสันฉูดฉาด แต่เมื่อนำมาตกแต่ง หรือใส่ในเครื่องดื่มเย็นจะให้กลิ่นเพิ่มขึ้น ฯลฯ ดังนั้นสามองค์ประกอบหลักนี้ทั้งในด้าน สีสัน รสชาติ และกลิ่น เป็นส่วนหนึ่งที่บอกเล่าความเป็นดอกไม้กินได้ที่ถูกเลือกนำมาใช้   

 “บีโกเนียที่เลือกนำมาศึกษา จากข้อมูลดอกไม้กินได้ที่มีทั้งดอกไม้ต่างประเทศที่นำเข้ามาปลูก  และอีกส่วนหนึ่งเป็นพืชผักที่อยู่กันอยู่แล้ว อย่างเช่น คาโมมายล์ ดอกแพนซี  กุหลาบ เก๊กฮวย ฯลฯ  นอกจากนี้มีผักพื้นบ้านอีกหลายชนิดที่มีความสวยงาม นิยมนำมาเติมสีสันให้อาหาร อย่างเช่น ดอกผักกาด อัญชัน กระเจี๊ยบ ดอกโสน ดอกขจร ดาหรา ดอกบัวมะลิ ฯลฯ นำมาใช้กันมายาวนาน  มีความหลากหลายมาก

แต่ทั้งนี้ในความกินได้ก็ต้องมองถึงความปลอดภัย ซึ่ง การปลูก มีความสำคัญ  สามารถปลูกในเมืองได้หรือไม่ หรือปลูกดูแลเองได้ก็จะทำให้ได้ผลผลิตมีความสดใหม่ ทั้งมีความปลอดภัยสำหรับตัวเรา ฯลฯ การศึกษาครั้งนี้จึงมองถึง การพัฒนาระบบปลูก ปลูกในครัวเรือน ปลูกประดับสวนให้ความสวยงามและสามารถเพิ่มรายได้กับผู้ปลูก”

 ดอกไม้กินได้สามารถปลูกได้หลายรูปแบบทั้ง ปลูกลงกระถาง ปลูกลงแปลงหรือพัฒนาการปลูกด้วยระบบไฮโดรโปนิกส์ ฯลฯ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในโจทย์ที่ศึกษาวิจัยครั้งนี้  จากที่กล่าวดอกไม้กินได้มีทั้งดอกไม้นำเข้าและพืชผักพื้นบ้านซึ่งต่างมีความน่าสนใจ สวยงาม

 บีโกเนียก็เช่นกันเป็นที่รู้จักทั้งในการนำมาตกแต่งอาหาร นำมารับประทาน ทั้งสามารถนำมาปรุงอาหาร และยังเป็นที่นิยมในหมู่ดอกไม้กินได้ฯลฯ และด้วยประโยชน์ที่หลากหลายจึงสนใจศึกษาอย่างละเอียด ครบวงจร นับแต่การปลูกถึงการพัฒนาต่อยอด”

อาจารย์ประจำคณะนวัตกรรมเกษตร วิทยาลัยนวัตกรรมเกษตรและเทคโนโลยีอาหาร ดร.อาทิตย์เล่าเพิ่มอีกว่า  บีโกเนียในปัจจุบัน ได้รับการพัฒนาพันธุ์ขึ้นมากมาย มีความหลากหลาย  ต้นไม่สูงมากแต่ให้ดอกตลอดปี  ในต่างประเทศ บีโกเนียเป็นไม้ดอกที่พักตัวในช่วงฤดูหนาว แต่เมื่อนำเข้ามาปลูกในไทย สามารถปลูกให้ดอกได้ตลอดปี  เป็นอีกข้อเด่น ที่น่าสนใจศึกษาในเชิงลึกสำหรับพืชชนิดนี้

“ บีโกเนียสามารถนำมาปลูกเป็นไม้ประดับในบ้าน ไม้ประดับแปลงดอกไม้ ปลูกเป็นไม้กระถาง ฯลฯ และด้วยสีสันสวยทำให้บ้าน หรือภูมิทัศน์โดยรอบสดใส  ส่วนที่นำมาปลูกในไทยมีหลายกลุ่มเช่น  Rex begonia ใบมีความสวยงาม ชนิดมีเหง้า หรือกลุ่มที่พัฒนาพันธุ์ให้ออกดอกช่วงหน้าหนาว  ฯลฯ นำมาปลูกประดับตามความต้องการและการใช้ประโยชน์ อย่าง แว็กซ์บีโกเนีย  ดอกสีสันสวยเด่นมีทั้งสีขาว แดง ชมพู อีกทั้งใบก็มีความสวยงาม”

 บีโกเนียที่นำมาศึกษา แม้ในช่วงที่ไม่มีดอกก็มีความสวยงามในตัวอย่างเช่นใบมีสีสันสวย ทั้งมีความเหมาะสมต่อสภาพอากาศของบ้านเรา สามารถปลูกเลี้ยงแดดรำไร ปลูกใต้ชายคา ปลูกริมหน้าต่างได้ โดยรวมสามารถปลูกเลี้ยงได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก ฯลฯ และด้วยที่เป็นดอกไม้กินได้ นำดอกไม้มาใช้ประโยชน์ทั้งการตกแต่ง หรือปรุงอาหาร โดยที่มีการกล่าวถึงความมีรสเฉพาะ รสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ จึงเพิ่มความน่าสนใจให้ศึกษาลึกลงไปยิ่งขึ้น ที่มากไปกว่าการกินได้

“ ในโปรเจคนี้นอกจากการศึกษาสาระสำคัญต่างๆในเชิงลึก ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพต่อเนื่องต่อจากที่มีข้อมูลปรากฏ  ทั้งในด้านวิตามิน สารต้านอนุมูลอิสระ ฯลฯ ยังตั้งเป้าศึกษาวิจัยในเรื่อง การขยายพันธุ์ รองรับความต้องการ ทั้งเพิ่มผลผลิตที่มีศักยภาพยิ่งขึ้น ศึกษาในมิตินี้เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะตอบโจทย์ครบวงจรการผลิตและการบริโภค โดยมีการศึกษาที่มีรายละเอียดย่อยลงไปเช่น การเพาะเมล็ด การเตรียมวัสดุปลูก

ถ้าเปรียบกับการทำการเกษตรในแปลงใหญ่ก็ต้องเตรียมดินให้ดีที่สุด เช่นเดียวกัน ถ้าปลูกพืชในเมือง ปลูกพืชในพืชที่จำกัด หรือพื้นที่ที่มีแสงน้อย การเตรียมวัสดุปลูกมีความสำคัญ หรือถ้าไม่มีดินจะใช้วัสดุใดได้บ้าง โดยศึกษาถึงการเลือกวัสดุที่เหมาะสม  โดยพืชนิดนี้ไม่ต้องการน้ำขัง แต่ต้องการความชุ่มชื้นสามารถระบายน้ำได้ดี ก็ต้องศึกษาและจัดเตรียมให้เหมาะสม เป็นต้น ”

นอกจากเรื่องการปลูกต้องศึกษาในเรื่อง การจัดการปัจจัยสภาพแวดล้อม ศึกษา โฟกัสในเรื่องแสงและอุณหภูมิที่เหมาะสม โดยปัจจุบันกำลังติดตาม ศึกษาคุณภาพแสงที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของพืช ศึกษาช่วงแสงความยาวนานของแสงที่เหมาะสมกับพืช ที่พืชต้องการ ทั้งนี้เพื่อส่งผลไปถึงผลผลิต อีกทั้งมีความตั้งใจพัฒนาไปถึงเครื่องปลูกพืชอัจฉริยะ ซึ่งเป็นโมเดลเดียวกับการปลูกผักที่คณะฯจัดทำเพื่อตอบรับเกษตรในเมืองที่สามารถปลูกได้ง่าย ได้ผลผลิตที่มีความปลอดภัย รวมถึงติดตามดอกไม้กินได้ที่มีศักย ภาพอื่นๆ เตรียมนำมาศึกษาวิจัยเพิ่ม เป็นส่วนหนึ่งบอกเล่าเรื่องราวดอกไม้กินได้ ดอกไม้ที่มีศักยภาพที่นอกจากให้ความสวยงาม

สร้างสีสันให้กับอาหารยังเพิ่มมูลค่า สร้างสรรค์ต่อยอดต่อไปได้อีกหลากหลายมิติ

                                                                                                   พงษ์พรรณ  บุญเลิศ