“ขุมพลังหลักของประเทศ” คือบทบาทและภารกิจของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) ภายใต้การนำของศาสตราจารย์(ศ.)ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผอ.สวทช.ในฐานะแม่ทัพที่นำพาองค์การไปขับเคลื่อนการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืนหรือS&T Implementation for Sustainable Thailand

บทบาทและภารกิจของ สวทช.ในการใช้ วทน.เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อเป็นขุมพลังในการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนคนไทยอย่างทั่วถึง และสร้างความเข้มแข็งและศักยภาพในการแข่งขันให้กับประเทศ จะเป็นไปในทิศทางใด มาฟังมุมมองวิสัยทัศน์ของ ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์

“ปี 2567 สวทช. ขับเคลื่อนผลงานวิจัยและพัฒนาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำคัญให้แก่ผู้ใช้ประโยชน์ทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ มีประชาชนและผู้ให้บริการจากภาครัฐเอกชน และภาคประชาสังคมสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นโดย สวทช. และเครือข่ายพันธมิตรเกิดผลสำเร็จอย่างมาก มีผู้ได้รับประโยชน์จำนวนกว่า 8.9 ล้านคน  และมีหน่วยงานนำเทคโนโลยีไปใช้มากกว่า 43,000 หน่วยงาน สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม มากกว่า 20,000 ล้านบาท และผลักดันให้เกิดการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) มากกว่า 3,600 ล้านบาท”

@มอง สวทช.จากปี 2567 สู่ปี 2568 กับบทบาทการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยด้วย วทน. “ในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เดินหน้าผลักดันการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสร้างประเทศไทยที่ยั่งยืน โดยในการแถลงผลการดำเนินงานปี 2567 และเป้าหมายปี 2568 สวทช. ได้เน้นย้ำถึงความสำเร็จและเป้าหมายที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติใน 4 มิติสำคัญ ได้แก่ การสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพึ่งพาตนเอง การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม”

@เศรษฐกิจไทยภายใต้การขับเคลื่อนของ สวทช. “สวทช. ชู 3 โครงการหลักที่ช่วยขับเคลื่อน
เศรษฐกิจไทย ได้แก่ การพัฒนาแพลตฟอร์มการผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชัน นวัตกรรมสารสกัดจากสมุนไพรไทยและอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งล้วนส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาสารสกัดมาตรฐานจากกระชายดำและบัวบก ที่สามารถผลักดันสมุนไพรไทยเข้าสู่ตลาดสากลและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ในส่วนของอุตสาหกรรม EV การพัฒนาห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานพาหนะไฟฟ้าเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของไทยในการลดการพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิงและส่งเสริมพลังงานสะอาด ซึ่งไม่เพียงช่วยลดต้นทุนพลังงาน แต่ยังสร้างโอกาสให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต EV ในภูมิภาค”

@การพึ่งพาตนเองผ่านเทคโนโลยีและการแพทย์ดิจิทัลด้านการพึ่งพาตนเองของประเทศ สวทช. ได้พัฒนาแพลตฟอร์มทางการแพทย์และชีววิทยาศาสตร์ที่สำคัญ เช่น ชุดตรวจติดตามโรคไตเรื้อรังที่สามารถช่วยประชาชนคัดกรองโรคไตเบื้องต้นได้เองที่บ้าน และแพลตฟอร์ม Digital Healthcare ซึ่งช่วยขยายโอกาสการเข้าถึงบริการทางการแพทย์สำหรับประชาชนกว่า 3 ล้านคน การพัฒนาวัคซีน ASF สำหรับสุกรยังเป็นอีกก้าวสำคัญในการลดการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ และส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารของไทย


@เทคโนโลยีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมสวทช.ให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เช่น แพลตฟอร์ม Traffy Fondue ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการปัญหาเมืองที่ช่วยให้ประชาชนสามารถแจ้งปัญหาโดยตรงถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปัจจุบันมีจังหวัดที่ใช้งานทุกหน่วยราชการของจังหวัดมากถึง 23 จังหวัด ผ่านการรับเรื่องแจ้งทั่วประเทศมากกว่า 1 ล้านเรื่อง ครอบคลุมประชากรมากกว่า 30 ล้านคน คิดเป็น 45% ของประชากรทั่วประเทศ ขยายผลการใช้งานแล้วมากกว่า 15,000 หน่วยงาน นอกจากนี้ โครงการ ‘ทุ่งกุลาม่วนซื่น’ ได้ช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน

@ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและเป้าหมายสู่ Net Zero สวทช.ไม่เพียงแต่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แต่ยังให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการพัฒนาตัวชี้วัดและฐานข้อมูล CO2, CE และ SDGs ซึ่งช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) โดยมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 7 แสนตัน นอกจากนี้ ยังมีโครงการ Industry 4.0 Platform ที่ช่วยยกระดับอุตสาหกรรมให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและลดต้นทุนการผลิต

@สวทช.กับอนาคตของประเทศไทย “แผนปฏิบัติการ 5 ปีของ สวทช.(2566-2570) ที่มุ่งเน้นการส่งมอบผลงานที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริงภายใต้แนวคิด ‘S&T Implementation for Sustainable Thailand’ ถือเป็นแนวทางที่สำคัญในการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นรูปธรรม โดยเป้าหมายของ สวทช. ในปี 2568 คือการเพิ่มจำนวนผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการต่าง ๆ ให้ได้มากกว่า 7 ล้านคน และมีหน่วยงานที่นำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์มากกว่า 20,000 หน่วยงาน ซึ่งสะท้อนถึงบทบาทสำคัญของ สวทช. ในการพาประเทศไทยก้าวสู่อนาคตที่มั่นคงและยั่งยืน”

“การขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ สวทช. แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในการพึ่งพาตนเองและแข่งขันในเวทีโลก อย่างไรก็ตาม ผมมองว่าความท้าทายที่สำคัญคือ การทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างทั่วถึง เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืนในทุกภาคส่วนของสังคม นี่คือสิ่งที่ สวทช. ต้องพิสูจน์ให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม”