นายเมธัส รัตนซ้อน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 68 คาดจะขยายตัว 2.8% แต่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นทั้งเรื่องมาตรการภาษีสหรัฐ อาจกระทบเศรษฐกิจไทยให้ลดลง 0.35-0.50% และความเสี่ยงภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่กังวลความปลอดภัย ทั้งข่าวโดนลักพาตัวหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทำให้ยอดจองโรงแรมของกรุ๊ปทัวร์ลดลงและถูกยกเลิกเยอะมาก ซึ่งหากกรณีร้ายแรงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยอาจลดต่ำกว่าปีที่ผ่านมาที่มี 35.5 ล้านคน อาจกระทบ 0.20% ทำให้จีดีพีไทยปี 68 อาจลดต่ำลงเหลือเพียง 2.1% เท่านั้น
ด้านนโยบายการเงิน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 2% ในการประชุมครั้งแรกของปี สวนทางกับท่าทีที่เข้มงวดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก่อนหน้านี้ โดย กนง. ให้เหตุผลว่าภาวะเศรษฐกิจอ่อนแอกว่าที่ประเมินไว้ และความเสี่ยงด้านลบเริ่มชัดเจนขึ้น แต่ยังย้ำว่าเป็นการปรับสมดุลของดอกเบี้ย ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง
อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ที่ 2.8% คาดว่า กนง. อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.00% ตลอดทั้งปี แต่หากได้รับผลกระทบจาก 2 ปัจจัยเสี่ยง มีโอกาสที่ กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1-2 ครั้ง ในปีนี้ หรือลงมาอยู่ที่ 1.50-1.75% ต่อปี โดยขึ้นอยู่กับในระยะข้างหน้า โดยต้องจับตารายละเอียดนโยบายสงครามการค้าของสหรัฐ ในวันที่ 2 เม.ย. นี้ ด้วย
นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ กล่าวว่า ในภาวะตลาดผันผวนนี้ แนะนำให้นักลงทุนปรับพอร์ต โดยเน้นอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายการลดภาษีนิติบุคคล และกลุ่มที่มีรายได้หลักจากตลาดในสหรัฐ เพื่อลดความเสี่ยงของการถูกตอบโต้จากสงครามการค้า ได้แก่ กลุ่มสถาบันการเงินในสหรัฐ ที่ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดี จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ขยายตัว และได้รับประโยชน์จากนโยบายลดกฎระเบียบในภาคการเงิน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไร และกลุ่มพลังงานในสหรัฐ ที่แม้ราคาน้ำมันจะปรับฐานลงจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ แต่มีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวแข็งแกร่งในระยะข้างหน้า
“ในกรณีเลวร้าย หากสงครามการค้ายกระดับขึ้น และสหรัฐประกาศใช้อัตราภาษีนำเข้ากับประเทศคู่ค้าทั่วไป ที่ระดับ 10% เราประเมินว่า ผลกระทบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐ จะอยู่ที่ 4-5% แต่มองไปข้างหน้า ตลาดหุ้นยังมีปัจจัยบวกจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ เช่น ความพยายามในการลดภาษีนิติบุคคลจาก 21% ในปัจจุบันเหลือ 15% ซึ่งหากทำได้จริง จะส่งผลบวกต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนสหรัฐ ราว 4% และคาดว่าจะช่วยชดเชยผลกระทบเชิงลบจากกำแพงภาษีได้เกือบทั้งหมด”