น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม (วธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบตามที่ วธ. นำเสนอ 3 วาระ ดังนี้ 1. เห็นชอบเอกสารรายการ “ประเพณีลอยกระทงในประเทศไทย” (Loy Krathong : Traditional Water – honoring Festival in Thailand) เพื่อเสนอเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ซึ่งการเสนอประเพณีลอยกระทงในประเทศไทย เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อยูเนสโก ดำเนินการตามมาตรา 16 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ค.ศ. 2003 ซึ่งประเพณีลอยกระทงในประเทศไทย มีคุณค่าความสำคัญสอดคล้องตามหลักเกณฑ์การเสนอในประเภทรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติของยูเนสโก และประเพณีลอยกระทงได้รับการขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เมื่อปี 2554 ดังนั้นการเสนอประเพณีลอยกระทงในประเทศไทยครั้งนี้ถือเป็น Soft Power ที่สำคัญตามนโยบายรัฐบาล เพื่อส่งเสริมคุณค่าและมูลค่าเทศกาลประเพณีให้ประเทศไทยเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยปัจจุบันประเทศไทยได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในบัญชีรายการตัวแทนมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ของยูเนสโกแล้ว จำนวน 6 รายการ ได้แก่ โขน (ปี 2561) นวดไทย (ปี 2562) โนรา (ปี 2564) สงกรานต์ในประเทศไทย (ปี 2566) ต้มยำกุ้ง (ปี 2567) และเคบายา (ปี 2567)

รมว.วธ. กล่าวต่อไปว่า 2.เห็นชอบแผนแม่บทวัฒนธรรมแห่งชาติ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566–2570) เป็นกรอบทิศทางการขับเคลื่อนงานด้านวัฒนธรรมในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และเผยแพร่วัฒนธรรมที่ดีงามของไทย โดยนำมิติวัฒนธรรมมาเป็นรากฐานการพัฒนาประเทศให้บรรลุเป้าหมายต่อไป โดยแผนแม่บทวัฒนธรรมแห่งชาติฉบับนี้มุ่งหวังให้มิติวัฒนธรรมพัฒนาประเทศสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์ชาติ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ภายในปี 2580 อย่างเป็นรูปธรรม โดยขับเคลื่อนผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.เสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 2.ส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่ดีให้กับสังคมไทย 3.พัฒนาสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม ส่งเสริมภาพลักษณ์ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และเผยแพร่วัฒนธรรมที่ดีงามของไทยในระดับชาติและระดับโลก 4.ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจจากทุนทางวัฒนธรรม และ 5.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการงานวัฒนธรรม

น.ส.สุดาวรรณ กล่าวอีกว่า 3.เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ภาพยนตร์ พ.ศ. … ซึ่ง วธ. โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เพื่อใชบังคับแทน พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ในส่วนที่เกี่ยวกับภาพยนตร์เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศเติบโตและแข่งขันกับนานาประเทศได้ และลดอุปสรรคในการเข้ามาผลิตภาพยนตร์ในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นปัจจัยในการดึงดูดการเข้ามาผลิตภาพยนตร์ในประเทศไทยอันจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศไทย โดยมีสาระสำคัญ อาทิ การใช้ระบบการรับรองตนเองแทนการตรวจ โดยคณะกรรมการจากภาครัฐและภาคเอกชน อีกทั้งนำระบบการจดแจ้งมาใช้แทนระบบขอใบอนุญาตประกอบกิจการ รวมทั้งปรับปรุงมาตรการกำกับดูแลโดยใช้โทษปรับเป็นพินัยแทนโทษอาญา เว้นแต่กรณีที่เกี่ยวข้องกับการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักรซึ่งยังคงมีโทษทางอาญาอยู่ โดยร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวประกอบด้วย 7 หมวด 110 มาตราและมีผู้รักษาการคือรมว.วธ. และรมว.การท่องเที่ยวและกีฬาในส่วนที่เกี่ยวกับการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร เป็นต้น