ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจเที่ยวนี้ อาจเรียกได้ว่า “ลบคำปรามาสฝ่ายรัฐบาล” ที่ว่า “นายกฯอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร ทำงานแค่ 6 เดือนจะมีอะไรให้พูดมาก ปรากฏว่า ฝ่ายค้านแต่ละคนทำหน้าที่ได้ดี เปิดตัวเดบิวต์นักอภิปรายหน้าใหม่ได้ไม่ได้เทแสงให้กับดาวพรรคประชาชน ( ปชน.) รายเดิมๆ บางคนกลายเป็นที่พูดถึงมาก คือ “สส.กู๊ดดี้” ชยพล สะท้อนดี สส.กทม.พรรค ปชน. ซึ่งตีแผ่เรื่องไอโอกองทัพ
โดยภาพรวมการอภิปราย ต้องการชี้ให้เห็นว่า “พรรคร่วมรัฐบาลนี้” แท้จริงแล้วคือ “พรรคร่วมรัฐประหาร” โดยมีข้อสังเกตเกี่ยวกับ “การสมยอมกับกลุ่มอำนาจรัฐประหารเดิม เพื่อตั้งรัฐบาลให้ได้ แล้วเสถียรภาพของรัฐบาลจะมั่นคง” ตัวอย่างที่ฝ่ายค้านพยายามเฉียดใกล้ให้เห็น ก็เช่นที่ นายอิทธิพล ชลธนาศิริ สส.ขอนแก่น พรรค ปชน. อภิปรายเรื่องเหมืองทองอัครา โดยชี้ให้เห็นว่ายังไม่ถอนใบอนุญาตเหมืองทองอัคราในพื้นที่สัมปทานบางจุด ทั้งที่ในคราที่เพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน “รัฐมนตรีน้ำ” น.ส.จิราพร สินธุไพร รมต.ประจำสำนักนายกฯ เคยแสดงท่าทีแข็งขันจะเอาผิด แต่มาวันนี้ ฟากรัฐบาลบอกแค่ “มันมีคดีความอยู่ในชั้นศาล หรืออนุญาโตตุลาการ แต่เราไม่แทรกแซง”เรียกว่า ไอ้ที่ขึงขังกันไว้ พอมาเป็นรัฐบาล มีอำนาจ ก็ไม่เห็นจะคิดรื้อปรับอะไร
อีกประเด็นหนึ่งคือการซื้อไฟฟ้าสำรองจากเอกชนเกินความต้องการใช้จริง “สส.เติ้ล วรภพ วิริยะโรจน์” สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชน. อภิปรายว่า ให้จับตา นายกรัฐมนตรีสานต่อรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนระยะ 2 รอบ 3,600 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันโครงการชลออยู่ ระวังรอเรื่องเงียบแล้วจะแอบลงนาม โดยตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มทุนซื้อพลังงานก็เป็นก๊วนกอล์ฟพ่อนายกฯ
ซึ่ง “สส.เติ้ล” ชี้ให้เห็นว่าเป็นการเอื้อใครเจ้าใดเจ้าหนึ่งหรือไม่ เนื่องจากไม่มีการประมูลแข่งขันราคา แต่ดันไปกำหนดราคารับซื้อเรียบร้อย กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( กกพ.) เหมือนใช้ดุลยพินิจแบบจิ้มเลือก ไม่เอาเรื่องความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีมาคำนวณ ซึ่งจะมีผลให้ประชาชนต้องรับภาระค่าไฟเพิ่มในหลักแสนล้านบาท
“การรับซื้อยังซ้ำซ้อนกับการเปิดเสรีไฟฟ้าสะอาด 2,000 เมกะวัตต์ ที่รัฐบาลเพื่อไทยเคยอนุมัติไปสมัย “เสี่ยนิด” เศรษฐา ทวีสิน”เป็นนายกรัฐมนตรี ช่วงเดือน มิ.ย.67 ประเทศไทยมีโรงไฟฟ้าเอกชนที่ผลิตไฟฟ้าล้นเกินความจำเป็น ถ้ายังรับซื้อต่อ ประชาชนก็ต้องแบกรับภาระ ซึ่งก็เป็นที่น่าสนใจว่า “นายทุนพลังงานหลายเจ้ารวยเอาๆ เพราะมั่นใจขายรัฐบาลได้ใช่หรือไม่ ?” จึงเรียกร้องให้ยกเลิกดีลซื้อไฟ 3,600 เมกะวัตต์นี้
เรื่องเอื้อพวกพ้อง“ถ้ามีจริง” ก็เข้าข่ายไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์
แต่ถ้าเป็นเรื่องที่ถูกมองว่า “ใช้เทคนิคกฎหมายเพื่อตัวเอง” จะสั่นสะเทือนความชอบธรรมหนักไปอีก ก็ “อดีตนายกฯแม้ว”นายทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกม็อบชุมนุมขับไล่เมื่อปี 48-49 ก็เรื่องขายหุ้นชินคอร์ปฯ ไม่เสียภาษี โดนโจมตีเรื่องจริยธรรม นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชน. เอาเรื่องภาษีขึ้นเชืด “นายกฯอิ๊งค์”
นั่นคือการซื้อขายหุ้นกับคนในครอบครัว 9 รายการ 4,434.5 ล้านบาท คาดว่าภาษี 812.7 ล้านบาท แต่ใช้วิธีซื้อด้วยตั๋วสัญญา หรือตั๋วพีเอ็น ให้หุ้นก่อนค่อยชำระ ทำให้การซื้อขายนั้นไม่ต้องเสียภาษี ซื้อขายกันเองในครอบครัวโดยที่โอนให้ก่อนแต่ยังไม่เก็บเงิน ตั้งข้อสังเกตว่า การทำให้เป็นการซื้อขาย “นายกฯอิ๊งค์” เลี่ยงภาษีรับให้หรือไม่และถ้าคนในครอบครัวขายหุ้นให้ในราคาพาร์ ก็อาจเลี่ยงภาษีหุ้นอีก เรื่องนี้ “นายกฯอิ๊งค์” ยืนยันว่าไม่เลี่ยงภาษีและจะชำระค่าหุ้นปี 69
ประเด็นด้านจริยธรรมต่อมา ที่กลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลเขาเตรียมปลุกกระแสประท้วงกันแล้ว คือกฎหมายเอนเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ ที่มีกาสิโน ผ่าน ครม.27 มี.ค.นี้เอง มีผู้ตั้งข้อสังเกตถึงความหละหลวมหลายอย่าง เช่น การให้อำนาจคณะกรรมการตามกฎหมายกำหนดเงื่อนไขต่างๆ มากเกินไป การตรวจสอบถ่วงดุลน้อย แล้วมีการประเมินตลาดว่า เราแข่งกับมาเก๊า สิงคโปร์ มาเลเซีย ได้จริงหรือไม่ เพิ่มรายได้ประเทศเท่าไร ทุนเทาแฝงมาลงทุนหรือไม่ และประเมินถึงค่าเสียหายทางสังคม โอกาสเกิดอาชญากรรมมากน้อยแค่ไหน
การทำโครงการโดยไม่ประเมินผลได้เสียชัดเจน ค่อยไปว่ากันในสภา ซึ่งเสียงพรรคร่วมอาจพอให้ผ่าน หากที่สุดแล้วเกิดความเสียหาย รัฐบาลก็ไม่พ้นถูกครหาเรื่องจริยธรรม.